เร่งสรุปการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ คาดทราบผล ต.ค.นี้


หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นในปีนี้ กระทรวงแรงงานได้ทำการสำรวจอัตราค่าจ้างที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2561 ซึ่งการพิจารณาจะอยู่รูปแบบไตรภาคี ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ โดยมีพื้นฐานปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 10 ข้อ อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น ที่สำคัญคือความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้าง

ซึ่งในเดือนนี้ได้จัดสัมมนาคณะอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ผู้แทนนายจ้าง/ลูกจ้าง รวมถึงฝ่ายเลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อกำหนดสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้คณะอนุกรรมการจังหวัดส่งผลการคำนวณของแต่ละจังหวัด นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จและทราบผลในเดือนตุลาคมนี้ ว่าจะมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไหร่ คิดว่าการปรับขึ้นจะไม่สูงมาก ซึ่งเศรษฐกิจในปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็นหลักร้อยบาท

ทั้งนี้ยังมีอัตราค่าจ้างอีกประเภทหนึ่งคือ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประกาศใช้แล้ว 67 สาขา และจะเพิ่มอีก 16 สาขา ซึ่งมีค่าจ้างเริ่มต้นที่ 320-800 บาท ขึ้นอยู่กับสาขา ระดับ และมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีฝีมือตามมาตรฐานและได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท นั้น ต้องว่าด้วยข้อมูลที่ชัดเจนนำตัวเลขเข้าสูตรการคำนวณค่าจ้าง การที่ค่าจ้างจะถึง 600-700 บาท ลูกจ้างต้องมีทักษะที่สูงมาก โดยในหลักการต้องมีการพูดคุยกับองค์กรนายจ้างว่าสามารถรับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้หรือไม่ เพราะค่าจ้างเป็นต้นทุนแต่หากลูกจ้างมีฝีมือนายจ้างก็พร้อมจะที่จะจ่ายค่าจ้าง

ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีโครงการส่งเสริมผลิตภาพแรงงานให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นค่าจ้างก็จะเพิ่มขึ้นตามด้วย รวมถึงการที่ประเทศไทยจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ค่าจ้างอาจจะขยับเพิ่มขึ้นและคงต้องยกระดับขีดความสามารถแรงงานให้สูงขึ้นตามไปด้วย