ช่วงนี้เป็นข่าวอีกทึกครึกโครมกันจริงๆ กับกรณี เมฆ มังกรบิน เจ้าของแบรนด์หัวเชื้อน้ำมันเครื่องชื่อดัง ทั้งนี้ที่มาที่ไปของเรื่องทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากการโฆษณาสินค้าของแกในเชิงสรรพคุณล้นเหลือ จนสินค้าแกเป็นที่โด่งดังรู้จักกันไปทั่วประเทศ แต่วันหนึ่งก็ดันเกิดเรื่องจนได้สำหรับกรณีที่มีลูกค้ารายหนึ่งเอาหัวเชื้อยี่ห้อแกไปใส่รถแล้วรถพังจนถึงขั้นลูกค้ารายนั้นเอามาโพสต์แฉว่าไม่ดีเหมือนที่โฆษณาป่าวประกาศเลย จนเรื่องนี้เป็นที่วิพากวิจารณ์จนเป็นไฟลามทุ่งในโซเชียล
ดังนั้นวันนี้จะแยกวิเคราะห์ข้อกฎหมายเป็น2ประเด็น
1.กรณีเจ้าของสินค้าที่โฆษณาเกินจริงจะโดนข้อกฎหมายอะไรบ้าง
2.เจ้าของรถที่พัง!! แล้วเอาเรื่องมาโพสต์แฉในโซเชียลจะโดนข้อหาหมิ่นประมาทหรือไม่
มาเข้าประเด็นแรกกันเลยดีกว่าครับ
ประเด็นที่ 1 : เมฆ มังกรบิน โอ้อวดสรรพคุณสินค้าหัวเชื้อน้ำมันเครื่องจนคนแห่ซื้อเอาเติมรถแล้วพัง ย่อมมีความผิดตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โดยมาตรา22 ได้พูดถึงลักษณะข้อความต้องห้าม ซึ่งกรณีนี้เข้าตามมาตรา22(1),(2)นั่นคือ”มาตรา 22 การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
ข้อความดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
(1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ”
ดังนั้นเมื่อมีการอวดอ้างสรรพคุณสินค้าในลักษณะดังกล่าวก็ทำให้ ผิดตามมาตรา47อย่างชัดเจน!!ในเรื่องของคุณภาพสินค้าที่โฆษณาเกินจริง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน5หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ “มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในเบื้องต้นต้องดูที่เจตนาและพฤติกรรมของพี่เมฆเป็นสำคัญว่าจะผิดมาตราไหน?
– มาตรา 271 ซึ่งยังไม่ถึงขั้นฉ้อโกง แต่ก็มีโทษจำคุกนะ “มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2547
โจทก์ร่วมทำสัญญากับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อน้ำมันจากโจทก์ร่วมมาจำหน่ายเท่านั้น จำเลยผิดสัญญาโดยไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย โจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งคืนสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ร่วม รวมทั้งเพิกถอนความยินยอมให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม แต่จำเลยก็ยังคงประกอบการค้าต่อไปโดยซื้อน้ำมันจากที่อื่นมาจำหน่าย และยังคงติดป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โดยมิได้แสดงเครื่องหมายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานีบริการน้ำมันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะขายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม จึงเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 271
– แต่ถ้าเป็นฉ้อโกงธรรมดาตามมาตรา 341นั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน3ปีหรือปรับไม่เกิน6พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็เป็นความผิดที่สามารถยอมความกับผู้เสียหายได้ เมื่อคู่กรณีได้รับการชดใช้
– แต่ถ้าเป็นกรณีถึงขั้นฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา343 แล้วละก็เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาญาแผ่นดิน ดังนั้นงานนี้พูดได้คำเดียวว่าหนักทีเดียวเชียว!! คุก!!ไม่เกิน5ปีหรือปรับไม่เกิน1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนจะผิดข้อกฎหมายอื่นๆหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องลงไปตรวจสอบกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี เรื่องการจดทะเบียนการค้าถูกต้องหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการยืนจังก้า!!ถ่ายรูปแบกอาวุธสงคราม รวมทั้งพฤติกรรมการทวงหนี้ประจานโซเชียลก็ไปว่ากันตามความผิด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้นๆครับ
ประเด็นที่ 2 : ผู้เสียหายรถพังโพสต์โซเชียลจะโดนข้อหาผิดหมิ่นประมาทหรือไม่?
งานนี้บอกตรงๆว่าไม่ผิด!! ในเรื่องของการหมิ่นประมาทนั้น ซึ่งผู้เสียหายย่อมชอบที่จะปกป้องตนเองและเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประชาชนโดยทั่วๆไป มันมีข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 329(1),(3) ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา329ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1)เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(3)ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ”
ดังนั้นเจ้าของรถคันที่พังสบายใจโลด!! ครับ
@เมี่ยง กะมังบิน #แอดมินเฉพาะกิจรายงาน