นักช้อปจำนวนกว่า 100 ล้านคนในจีนกำลังใช้สมาร์ทโฟนของตนเองในการซื้อสินค้าหลากหลายชนิด ตั้งแต่สินค้ามีดีไซน์ราคาสูงเรื่อยไปจนถึงอาหารข้างทาง หัวใจสำคัญที่ทำให้เรื่องของการจ่ายเงินแบบดิจิทัลแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็วก็คือ QR Code นั่นเอง ใช่แล้วรูปสี่เหลี่ยมเล็กขาวสลับดำแบบ 2 มิตินี่แหละคือพระเอกของเรื่อง
ย้อนข้ามไปยังฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกาและยุโรปต้นถิ่นกำเนิดของคิวอาร์โค้ดกลับพบว่าไม่ค่อยมีการใช้งานแพร่หลายเท่าที่ควร มีเพียงการใช้งานในแอปพลิเคชันทางสังคมออนไลน์อย่าง Snapchat, Facebook และ Spotify ในเรื่องของการปลดล็อคคุณสมบัติใหม่, เพิ่มเพื่อน และทำการเข้าถึงรายชื่อเพลงเท่านั้น
กลับมาที่ฝั่งตะวันออกอย่างจีนตอนนี้ทั้งประเทศ ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยคิวอาร์โค้ด เพราะถูกใช้งานโดยผู้นำในตลาดค้าปลีกรายใหญ่, ร้านค้าสองข้างถนน หรือแม้แต่ขอทานยังใช้คิวอาร์โค้ด ตลาดนี้ใหญ่มากและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในปีที่ผ่านมา (2016) คาดว่ามีการใช้จ่ายผ่านรูปแบบนี้มากถึง 1.65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบของยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายของจีน
สองยักษ์ใหญ่รับหมดทั้งประเทศ
Tencent ให้บริการในชื่อของ Wechat กับ Alibaba ในชื่อของ Alipay สองรายนี้เข้ายึดครองตลาดการจ่ายเงินทางมือถือของประเทศจีนเอาไว้หมดแล้ว คนจีนสามารถใช้จ่ายผ่านทางระบบจ่ายเงินโดยการสแกนคิวอาร์โค้ด หรือทำการแสดงรหัสส่วนตัวที่จุดชำระเงิน เงินก็จะถูกตัดออกจากระบบกระเป๋าเงินในมือถือที่มักจะมีการเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคาร
ใครไม่ใช้ก็ขายยาก และเสียโอกาส
ด้วยความที่ตัวของโค้ดถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการสร้างและใช้งาน ทำให้เกิดความแพร่หลายเข้าไปในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยตามท้องถนนได้อย่างรวดเร็ว เพราะการซื้อขายรายย่อยเหล่านี้ไม่รับเครดิตการ์ด พอมีวิธีการจ่ายเงินแบบนี้ขึ้นมาก็เลยทำให้มีความนิยมเพิ่มขึ้นสูงมาก
การใช้งาน QR Code ลุกลามไปในแบบไม่คาดคิด
เดือนเมษายน 2017 สื่อในจีนต่างนำเสนอเรื่องราวของเจ้าสาวไฮเทคที่ให้เพื่อนเจ้าสาวติดรหัส คิวอาร์โค้ด อยู่ที่คอ เพื่อทำหน้าที่ในการรับเงินแทนซองแต่งงานสำหรับแขกผู้มาร่วมงานที่ไม่ได้นำซองสีแดงติดตัวมา งานนี้อาจจะทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่อย่างแม่ของเจ้าบ่าวเคืองเอาได้ เพราะมันผิดออกไปจากธรรมเนียมประเพณีที่จะต้องรับเฉพาะซองแดงในงานมงคลแบบนี้ แต่การสแกนคิวอาร์โค้ดก็ทำให้สามารถโอนเงินได้สะดวกและรวดเร็วกว่า นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของการใช้งาน
มีการใช้งานเยอะ ก็เริ่มจะไม่ปลอดภัย
ด้วยความที่ตัวโค้ดสร้างได้ง่ายและเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เริ่มมีคนที่คิดจะทำการโกงผ่านการใช้งานกันบ้างแล้ว โดยเริ่มมีการเผยแพร่โค้ดที่สแกนแล้วจะเป็นการติดตั้งไวรัสที่ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยเงินและข้อมูลส่วนตัว ดังนั้นผู้ใช้งานควรจะสังเกตดูว่าสถานที่หรือตำแหน่งของ คิวอาร์โค้ด ที่จะทำการสแกนนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และควรตรวจสอบข้อมูลก่อนทำการตัดสินใจจ่ายเงินทุกครั้ง
นามบัตร, จักรยาน และการจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ
การใช้งานด้านนี้ขยายวงกว้างออกไปแทบจะทุกส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการธุรกิจซึ่งทุกวันนี้ไม่มีการแลกนามบัตรที่เป็นกระดาษกันอีกต่อไปแล้ว เพียงทำการสแกนข้อมูลของอีกฝ่ายก็จะปรากฏและถูกเก็บบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือแล้ว การเช่าจักรยานการเดินทางยอดนิยมของคนจีนก็ไม่ได้รับการยกเว้น หากมองเห็นคนจีนทำการสแกนที่จักรยานแล้วปั่นออกไปนั่นก็แสดงว่าเขาได้ทำการเช่าจักรยานคันนั้นไปเรียบร้อยแล้ว และการที่ Alipay เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการชำระค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างค่าน้ำค่าไฟและค่ารถโดยสารก็ทำให้การใช้งาน คิวอาร์โค้ด ยิ่งกว้างออกไป
แผนการใช้งาน คิวอาร์โค้ด ในระดับประเทศ
รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาและค้นคว้าเรื่องนี้อย่างหนัก เพราะมีเป้าหมายว่าจะนำเอาโค้ดตัวนี้มาใช้งานในส่วนของเอกสารทางราชการต่างๆ ที่ต้องออกให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นใบแจ้งเกิด, วีซ่า และบัตรประจำตัวประชาชน ในขณะที่บ้านเรากำลังเริ่มทำการเปิดตัวให้มีการใช้งานการจ่ายเงินผ่าน คิวอาร์โค้ด ก็ต้องคอยติดตามกันดูต่อไปว่าจะสร้างความนิยมออกไปในวงกว้างได้มากมายและรวดเร็วเท่าประเทศจีนหรือไม่ ตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การจ่ายเงินผ่านโค้ดแบบนี้ประสบความสำเร็จก็คือการที่มีผู้เล่นในเรื่องของ Mobile Payment จำนวนน้อย ทำให้ความร่วมมือและการเจรจาธุรกิจเกิดขึ้นได้สะดวกและรวดเร็วกว่า
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก money.cnn.com