สตาร์ทอัพจีน “แชร์” จักรยานไกลถึงยุโรป


Mobike หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการ สตาร์ทอัพจีน ส่ง “จักรยานสีส้ม” กว่า 1,000 คัน ไปวิ่งฝ่าสายฝนในเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษแล้ว นี่เป็นครั้งแรกของการเปิดตลาดนอกเอเชีย ในขณะที่ Ofo ยักษ์ใหญ่อีกรายของจีนก็ส่ง “จักรยานสีเหลือง” ไปบุกอังกฤษเช่นเดียวกันแต่ไปอยู่ในมหาวิทยาลัย Cambridge หลังจากผ่านการซุ่มเงียบทดสอบไปแล้วใน Silicon Valley และ San Diego

สตาร์ทอัพจีน ไปไกลระดับโลก

ธุรกิจการแชร์จักรยานกลายเป็นธุรกิจระดับโลกไปแล้ว ด้วยจำนวนจุดให้บริการมากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก คาดการณ์ว่าธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามากถึง 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 นี่คือการพลิกโฉมหน้าของวงการเช่าจักรยานของจีน ด้วยการที่จักรยานถูกปลดล็อคและทำการล็อคด้วยสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำจักรยานไปจอดไว้ยังจุดที่กำหนดแต่อย่างใด อยากจอดตรงไหนก็จอดไม่ต้องส่งคืนให้ตรงจุด จากรูปแบบของการใช้งานที่ง่ายและสะดวกนี้ทำให้มีความต้องการใช้งานขยายออกไปเป็นจำนวนมาก ตอนนี้กลายเป็นปัญหาเรื่องของจักรยานที่จอดกองเป็นภูเขาให้ต้องแก้ปัญหากันไปแล้วในประเทศจีน

ยักษ์ใหญ่หนุนหลังก็ไปไกล

Mobike กับ Ofo เป็น 2 สตาร์ทอัพรายใหญ่ของวงการจักรยานแบบแชร์ แต่ละแห่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้สนับสนุนรายใหญ่ก็ไม่ใช่ใครอื่น Mobike มี Tencent เป็นแบ็คอัพให้ ส่วน Ofo ก็มี Alibaba หนุนหลังอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจว่า สตาร์ทอัพสองรายนี้จึงพร้อมด้วยกำลังทรัพย์ที่จะขยายธุรกิจออกไปยังต่างแดนได้อย่างมั่นใจ โดยปีที่ผ่านมา (2016) ทำการขยายธุรกิจในเอเชีย ปีนี้ก็พร้อมแล้วที่จะไปบุกตลาดฝั่งตะวันตก

สตาร์ทอัพจีน ตั้งใจแก้ปัญหา “ไมล์สุดท้าย”

สตาร์ทอัพของจีนเริ่มต้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องของรถติดในมหานครใหญ่ ที่มีระบบเดินทางสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินให้บริการแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นกับการเดินทางที่เรียกว่า “ไมล์สุดท้าย” อยู่ดี เพราะระยะทางจากสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินไปยังที่ทำงานหลายครั้งที่การเดินใช้เวลานานเกินไป จึงเป็นที่มาของการแชร์จักรยานเพื่อแก้ไขปัญหา “ไมล์สุดท้าย” ให้กับผู้คน

แชร์จักรยานเป็นเรื่องสากล

Mobike เองก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาไมล์สุดท้ายให้กับผู้คน ตอนนี้ให้บริการอยู่ 130 เมือง และคาดว่าสิ้นปีนี้จะขยายเป็น 200 เมืองในประเทศจีน ก่อนที่จะขยายออกไปนอกประเทศ Mobike ต้องการพิสูจน์ให้โลกเป็นว่า “การแชร์จักรยาน” เป็นเรื่องในระดับสากลที่ใครๆ ก็ทำกัน

เข้าไปอยู่ในใจแล้วเม็ดเงินจะมาเอง

แน่นอนว่าการแข่งขันสูงก็ย่อมทำให้เกิดสงครามราคาเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทุกวันนี้คุณสามารถเลือกจักรยานแล้วปั่นออกไปได้ในราคาเพียงแค่ 1 หยวน (15 เซนต์) อันนี้ไม่รวมค่ามัดจำที่เรียกเก็บอยู่ระหว่าง 29-44 เหรียญ ล่าสุดในเมืองแมนเชสเตอร์คุณใช้บริการ Mobike ได้ในราคาครั้งสะ 65 เซนต์เท่านั้น การเก็บค่าบริการจักรยานแบบแชร์นี้ดูเหมือนจะมีราคาที่ถูกมาก มากจนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าด้วยการตั้งราคาแบบนี้ในทางธุรกิจถือว่าไม่สมเหตุผลหรือมาผิดทางหรือเปล่า เรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่า “หากคุณให้บริการที่ดีจนเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้แล้ว เม็ดเงินจะตามมาเอง”

ไม่เจ๋งจริงก็ไม่รอด

ความสำเร็จของสตาร์ทอัพรายใหญ่เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นหน้าใหม่รายย่อยเข้ามาทำตลาดตามเต็มไปหมด ตอนนี้ในจีนมีจักรยานรูปแบบนี้มากกว่าล้านคัน ปัญหาต้องเกิดขึ้นแน่ถ้าคุณไม่มีการบริหารจัดการหรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีพอ เพราะผู้ใช้งานไม่ได้น่ารักไปหมดทุกคน มีบางคนพยายามจะซ่อนหรือขโมยรถจักรยานเอาไว้เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว บางก็เก็บเอาไว้ในห้องของตัวเอง ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์ในการแชร์ ผู้ประกอบการรายเล็กบางรายถึงขั้นต้องปิดตัวลงด้วยตัวเลขการหายไปของจักรยานมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ทางออกอยู่ที่การเลือกใช้เทคโนโลยี

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมยักษ์ใหญ่อย่าง Mobike และ Ofo ต้องลงทุนติดตั้งระบบ GPS เอาไว้กับจักรยานทุกคัน เพราะถ้าใครเอาไปซ่อนหรือไม่ทำตามข้อตกลงก็จะต้องเสียค่าปรับกันบ้าง แต่ปัญหาใหม่อีกข้อของธุรกิจนี้ก็คือจำนวนของรถจักรยานที่ถูกจอดทิ้งไว้เป็นกองพะเนินต่างหาก แน่นอนว่ามันเกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการปั่นไปยังจุดต่างๆ บริษัทต้องคอยจัดการกับเรื่องการขนย้ายรถจักรยานของตนเองอยู่บ่อยๆ แต่ตอนนี้เริ่มเสนอวิธีการให้กับผู้ใช้ด้วยการ “ปั่นฟรี” หากปั่นไปยังจุดที่กำหนด ก็ถือเป็นการพารถให้กระจายไปตามจุดต่างๆ ด้วยกำลังขาของลูกค้าเอง

ข้อมูลขนาดใหญ่เอาไว้ต่อยอดธุรกิจ

ทุกวันนี้ทั้ง Mobike และ Ofo ได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลเพิ่มขึ้นทุกวันจากเส้นทางการใช้งานจักรยานของผู้คน แน่นอนว่าข้อมูลด้านการจราจรเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่จะนำมาต่อยอดในทางธุรกิจ บริษัทเองจะรู้ว่าเส้นทางไหนที่คนนิยมใช้งานกันเมื่ออยู่บนจักรยาน เวลาไหนที่การจราจรหนาแน่น ประโยชน์ทางตรงคือการเพิ่มจุดบริการที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ส่วนการต่อยอดก็จะเป็นเรื่องของการให้ส่วนลดค่าเช่าสำหรับการปั่นผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ หรือแม้แต่การให้บริการเดลิเวอรี่ในชั่วโมงเร่งด่วน ขึ้นชื่อว่าสตาร์ทอัพคงไม่หยุดอยู่ที่แค่การเก็บค่าแชร์จักรยานเท่านั้น

สำหรับบ้านเรายักษ์ใหญ่ทั้งสองก็ได้เข้ามาเริ่มทดลองให้บริการกันไปแล้วเช่นกัน โดย Ofo เปิดให้บริการอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ส่วน Mobike ก็เปิดให้บริการอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่เรียบร้อย ใครอยากสัมผัสตัวจริงของ สตาร์ทอัพจีน ก็ไปดูกันได้ แต่ถ้าอยากรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสตาร์ทอัพก็คลิกที่นี่กันได้เลย

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

Money.cnn.com