พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทยปี 2560


จากจำนวนผู้ที่เข้ามาตอบแบบสำรวจ พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทยปี 2560 ด้วยความสมัครใจทั้งหมด 25,101 คน พบว่า เป็นเพศหญิง ร้อยละ 57.2 เพศชาย ร้อยละ 41.2 และเพศทางเลือก เพียงร้อยละ 1.6 ในปีนี้ยังคงจำแนกช่วงอายุของผู้ตอบแบบสำรวจออกเป็น 4 เจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomer จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด

  • Gen Y (ร้อยละ 52.9)
  • Gen X (ร้อยละ 32.7)
  • Baby Boomer (ร้อยละ 8.1)
  • Gen Z (ร้อยละ 6.3)

เพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่สอดคล้องกับโครงสร้างของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย การประมวลผลข้อมูลจึงมีการถ่วงน้ำหนักตามโครงสร้างอายุและที่พักอาศัยของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลโครงสร้างจากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ปี 2559 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องของจำนวนชั่วโมง

จากผลการสำรวจจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีแรกที่ สพธอ. จัดทำงานสำรวจนี้ พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกปี

  • ปี 2556 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชม. 36 นาทีต่อวัน
  • ปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชม. 12 นาทีต่อวัน
  • ปี 2558 ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชม. 54 นาทีต่อวัน
  • ปี 2559 ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชม. 24 นาทีต่อวัน

ปี 2560 มีการปรับเปลี่ยนการสำรวจ โดยแยกเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตช่วงวันทำงาน/วันเรียนหนังสือ และช่วงวันหยุด จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้เวลาไปกับการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงวันหยุดโดยเฉลี่ยต่อวัน มากกว่าช่วงวันทำงาน/วันเรียนหนังสือเพียงเล็กน้อย

  • วันทำงาน/วันเรียนหนังสือใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชม. 30 นาทีต่อวัน
  • วันหยุดใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ชม. 48 นาทีต่อวัน

Gen Y มีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในช่วงวันทำงาน/วันเรียนหนังสือ และ วันหยุดมากที่สุดเมื่อเทียบกับเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ

พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องสถานที่

  • อันดับที่ 1 บ้าน/ที่พักอาศัย (ร้อยละ 85.6)
  • อันดับที่ 2 ที่ทำงาน (ร้อยละ 52.4)
  • อันดับที่ 3 ระหว่างการเดินทาง เช่น บนรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์  (ร้อยละ 24.1) ซึ่งแตกต่างจากอันดับที่ 3 ในปี 2559 ที่เป็นการใช้ในสถานศึกษา

พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องของกิจกรรม

ส่วนกิจกรรมการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต จากผลการสำรวจในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า อันดับที่ 1 – 5 ของกิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ รับ-ส่งอีเมล, ค้นหาข้อมูล, ใช้โซเชียลมีเดีย, อ่านหนังสือทางออนไลน์ และดูทีวี/ฟังเพลงทางออนไลน์ โดยอันดับอาจมีการสลับกันบ้าง แต่ในปี 2560 นี้ กิจกรรมการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงอันดับ โดยการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook, Instagram, YouTube เป็นต้น เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น พูดคุย, ดูหนังออนไลน์, ดูถ่ายทอดสด และคุยโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชัน ยังคงเป็นกิจกรรมยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปีนี้ มีร้อยละ 86.9 ซึ่งใกล้เคียงกับการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 86.5) รองลงมา เป็นการรับ-ส่งอีเมล (ร้อยละ 70.5), การดูทีวี/ฟังเพลงทางออนไลน์ (ร้อยละ 60.7) และการซื้อสินค้า/บริการทางออนไลน์ (ร้อยละ 50.8) ตามลำดับ

ซื้อของออนไลน์มาแรง

ด้วยกระแสการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ในปีนี้การซื้อสินค้า/บริการทางออนไลน์ติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 8 เมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นโอกาสและความท้าทายของภาครัฐที่จะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้วยการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หลักของแผนชาติ อันจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทย ประเภทของสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยในยุคนี้ที่พบว่ามีการใช้งานมากเป็น

  • อันดับที่ 1 ได้แก่ YouTube (ร้อยละ 97.1)
  • อันดับที่ 2 Facebook (ร้อยละ 96.6)
  • อันดับที่ 3 Line (ร้อยละ 95.8)

Gen Z ใช้ YouTube มากเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา เป็น Facebook และ Line ตามลำดับ ในขณะที่ Gen Y ใช้ YouTube มากเป็นอันดับที่ 1 เช่นเดียวกันกับ Gen Z แต่อันดับรองลงมา เป็น Line และ Facebook ตามลำดับ ส่วน Gen X และ Baby Boomer มีพฤติกรรมการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีการใช้งาน Line มากเป็นอันดับที่ 1 รองลงมา เป็น Facebook และ YouTube ตามลำดับ

ปัญหาที่ยังต้องรอการแก้ไข

ในปีนี้ปัญหาที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบในการทำกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ได้แก่

  • ปริมาณโฆษณาที่มารบกวนในขณะที่กำลังใช้งานอินเทอร์เน็ต เช่น ฟังเพลง, ดูคลิปวีดีโอ, หรือดูละครซีรีส์ย้อนหลัง เป็นต้น (ร้อยละ 66.6)
  • ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ/ใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 63.1)
  • การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยาก/หลุดบ่อย (ร้อยละ 43.7)
  • ปัญหาจากการทำกิจกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร (ร้อยละ 39.6)
  • ถูกรบกวนด้วยอีเมลขยะ (ร้อยละ 34.2)

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเกิดปัญหาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร กลายมาเป็นปัญหา อันดับที่ 4 ของปีนี้ โดยในปี 2559 ปัญหาดังกล่าวอยู่ในอันดับท้าย ๆ ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารภารกิจของหน่วยงานให้ประชาชนได้รับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานอย่างเร่งด่วน ในอีกมุมหนึ่ง โจทย์นี้ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กระบวนการ/กลไกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการ/เชื่อมโยงการใช้งานข้อมูลหลังบ้านร่วมกันได้ ซึ่งคงต้องช่วยกันคิดหาทางออกต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 ของ ETDA