กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 สร้างโมเดลบริหารจัดการน้ำเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม


เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดจากคนเพียงคนเดียวข้อความดีๆอันเป็นที่มาของกระบวนการการมีส่วนร่วมบทบาทสำคัญในการดำเนินงานของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัวสำนักงานชลประทานที่ 3 นำโดยนายสุทัศน์วรอภิญญาภรณ์ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94ซึ่งได้สร้างโมเดลการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มตนเองซึ่งได้นำกระบวนการมีส่วนร่วมเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดในพื้นที่เน้นการสร้างคนเพื่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

สุทัศน์ เล่าว่า กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 ซึ่งมีพื้นที่ดูแลและรับผิดชอบใน ต.ทับหมัน อ.ตะพานหิน และ ต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตรแบ่งเกษตรกรผู้ใช้น้ำออกเป็น 4 เขต มีแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนสิริกิติ์ โดยอาศัยน้ำที่ไหลผ่านจากอาคารประตูกลางคลองซี1 ยกระดับน้ำซึ่งมีความยาวกว่าจะถึงพื้นที่รับน้ำของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 ประมาณ 5 กิโลเมตรอีกทั้งระหว่างทางการไหลของน้ำนั้นยังต้องผ่านกลุ่มบริหารการใช้น้ำอื่นๆ อีก 3 กลุ่มทำให้ช่วงก่อนปี 2548 เกษตรกรต่างมีปัญหาความขัดแย้งกันเรื่องการส่งน้ำที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี

คนทางต้นน้ำจะเอาน้ำก็มาเปิดบาน คนท้ายจะเอาก็มายกบาน เป็นอย่างนี้ทุกวันจนเกิดการทะเลาะวิวาท เกษตรกรไม่พูดคุยกัน สุดท้ายต่างคนต่างไม่ได้น้ำ เพราะมักเปิด – ปิด จนหมดรอบเวรรับน้ำ 7 วันสุทัศน์ กล่าว ภายหลังปี 2548 เมื่อเกษตรกรได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น สถานการณ์ต่างๆได้เริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากกลุ่มได้มีการเริ่มจัดประชุมและฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูกลุ่มขึ้นมาใหม่ ให้ความรู้ โดยเน้นการสร้างผู้นำและสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดระหว่างสมาชิกกับผู้นำจนกลุ่มมีความเข้มแข็ง รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่ชลประทานเข้ามามีส่วนในการสร้างมอบองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับส่งกลุ่มเข้าประกวดกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่นหลายครั้งและมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนกับสถาบันการชลประทานและระบายน้ำประเทศญี่ปุ่น (Japanese Institute ofIrrigation Drainage : JIID) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรประมงและป่าไม้ของประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียมจึงทำให้คณะกรรมการกลุ่มบริหารการใช้น้ำมีวิสัยทัศน์และทักษะมากขึ้น

ประโยชน์ที่สมาชิกกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 ได้รับ คือลดความขัดแย้ง เข้าใจปัญหาร่วมกัน แก้ไขปัญหาและรับผลประโยชนร่วมกัน โดยการบริหารจัดการน้ำตามสภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94 ยังได้มีการเปิดใจพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าหน้าที่ชลประทานมากขึ้น มีนายอภิรักษ์ ช่วยพยุง ช่างฝีมือสนามชั้น 2 ทำหน้าที่พนักงานส่งน้ำ ฝ่ายส่งน้ำที่ 2 วังสำโรง เป็นพี่เลี้ยง นำการบริหารจัดการน้ำของทางกรมชลประทานปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ นำมาสู่รูปแบบการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่การสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ใช้น้ำ การขยายเครือข่าย และการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในสมาชิกกลุ่ม

การสร้างคนให้เข้ามามีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากทำความเข้าใจปัญหา รู้ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร ก็สร้างคนคุณภาพเข้าไปแก้ปัญหาซึ่งทุกคนจะมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองกำหนดไว้อย่างชัดเจน และทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบนั้น ยกตัวอย่างประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94ต้องชัดเจนว่าบริหารจัดการได้ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก และกล้าตัดสินใจหรือเรียกง่ายๆ ว่ามีภาวะผู้นำสุทัศน์ อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็ง ด้านการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองซี 94สุทัศน์กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน โดยในช่วงฤดูฝน น้ำมาก จะเกิดปัญหาน้ำล้นหลังคันคลอง เพราะโดยธรรมชาติแล้วน้ำจะไหลไปตามแรงโน้มถ่วง ตามคลองส่งน้ำที่ถูกออกแบบมาให้ปลายคลองเล็กลงเสมอ เมื่อน้ำถูกเติมเข้ามาตลอด จึงระบายน้ำได้ช้า โมเดลการแก้ปัญหาของกลุ่มก็คือ การคืนน้ำกลับ

 

ทุกครั้งก่อนที่จะมีการส่งน้ำจะต้องมีการพูดคุยร่วมกันกับสมาชิกผู้ใช้น้ำถึงความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค จากนั้นถึงจะกำหนดระดับน้ำที่ต้องการของแต่ละคน โดยเมื่อเกษตรกรได้ปริมาณน้ำที่ตั้งไว้แล้ว จะมีการคืนน้ำกลับ ด้วยวิธีปรับบานประตูลงเช่น ถ้าหากเขต 4 มีระดับน้ำเกินกว่าที่ตั้งไว้ จะทำการปรับบานประตูลง เพื่อให้น้ำไหลกลับไปยังเขต 3 ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในเขต 3 เพิ่มขึ้น หากระดับน้ำเกินกว่าที่เขต 3 ตั้งไว้ ก็จะทำการปรับบานประตูลง เพื่อให้น้ำไหลกลับไปยังเขต 2 เช่นนี้เรื่อยไปจนถึงเขต 1 ท้ายที่สุดซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำและแก้ปัญหาน้ำล้นหลังคันคลอง ส่งผลให้ฤดูแล้งไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเช่นในอดีต

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่มีความต้องการน้ำสูง ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับช่วงฤดูฝน คือจะต้องมีการพูดคุยตกลงกันก่อนร่วมกับสมาชิกผู้ใช้น้ำถึงความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค โดยเน้นบริหารจัดการตามความเป็นจริงเพราะกลุ่มจะไม่มีการบังคับให้เขื่อนสิริกิติ์เปิดน้ำให้ใช้ได้ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การจัดรอบเวรแบ่งน้ำตลอด 7 วัน ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จำนวนกว่า 400 คน อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละคน