หวั่นแก้กฎหมายเอื้อไทยนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง


สัปดาห์ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แถลงข่าวถึงประเด็นการหารือเรื่องที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนโดยระบุแต่เพียงว่าเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศจะหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งนั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะยอมทำตามที่สหรัฐฯเรียกร้อง และอาจอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่มีสารแรคโตพามีนจากสหรัฐฯ ได้

ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการหารือเรื่องดังกล่าวและศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายของกรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงทุกประเภทผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงหมู และห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์และเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด เพื่อทำให้ไทยสามารถนำเข้าได้

โดยในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่า อาจต้องทำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงและอนุญาตให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อหมูและเครื่องในได้ในปริมาณเล็กน้อย หรืออาจแก้ไขให้สามารถนำเข้าหมูและเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงได้ แต่ยังห้ามเกษตรกรในประเทศใช้ในการเลี้ยงโดยเด็ดขาด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับหมูที่นำเข้า

อย่างไรก็ตามหากไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานโคเด็กซ์ ในฐานะเป็นสมาชิกและสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ก็อาจถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้ โดยหากมีการแก้ไขกฎหมายจริงคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะนำเข้าได้จริง เพราะการแก้ไขกฎหมายต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย

       ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบทั้ง 2 ประเทศได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 2 ชุด ซึ่งเป็นชุดของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้าหมู และเครื่องในจากสหรัฐฯ

ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ยังไม่ทราบ แต่หากจะแก้ไขจริงคงต้องหารือและได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน เช่น กรณีจะแก้ไขกฎหมายของกรมปศุสัตว์ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรฯก่อน รวมถึงไทยต้องแก้ไขพันธกรณีที่ผูกพันไว้กับโคเด็กซ์ ที่ไทยระบุจะไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้หากรัฐจะให้นำเข้าจริงผู้เลี้ยงหมูจะคัดค้านและฟ้องร้องผู้ที่ทำให้เสียหายจนถึงที่สุด เพราะการนำเข้าจะส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงหมูและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พืชไร่ที่ทำอาหารสัตว์ด้วย