งบการเงิน ที่เอสเอมอีต้องรู้ เพื่อการจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ


การทำความเข้าใจ งบการเงิน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากงบการเงินช่วยให้บริหารจัดการด้านการเงิน และลงทุนในธุรกิจได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปงบการเงิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักด้วยกัน คือ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เมื่อผู้ประกอบการเข้าใจถึง งบการเงิน ทั้ง 3 ประเภทก็จะสามารถวิเคราะห์และบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

งบการเงิน ทั้ง 3 ประเภทมีดังนี้

  1. งบดุล: ฐานะและความมั่นคงของธุรกิจ

งบดุล เป็นงบทางการเงินที่บ่งบอกถึงฐานะและความมั่นคงของธุรกิจ โดยงบดุลจะแสดงข้อมูลทางการเงินในส่วนของสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น

สินทรัพย์ หมายถึง สิทธิและทรัพยากรที่ธุรกิจมีอยู่ เกิดจากการประกอบธุรกิจ ซึ่งก็คือเงินหรือสิ่งของที่มีมูลค่าเป็นตัวเงิน ซึ่งบุคคลหรือกิจการเป็นเจ้าของ และมีสิทธิครอบครองโดยถูกต้องตามกฎหมาย    สินทรัพย์นั้นสามารถแบ่งได้เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน กับ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียน หมายถึง เงินสดหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลา 1 ปีหรือรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ภายในรอบระยะเวลาบัญชี หรือสินค้าคงเหลือ

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี หรือ 1 รอบระยะบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามาก และเป็นสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร ที่ดิน หรือเงินที่นำไปลงทุนในระยะยาว

หนี้สิน คือ พันธะผูกพันที่บุคคลภายนอก หรือที่เรียกว่า เจ้าหนี้ มีต่อธุรกิจ ซึ่งอาจเกิดจากการกู้ยืม หรือการซื้อขายสินค้า ที่จะต้องมีการชำระคืนในภายหน้า ทั้งนี้ หนี้สินสามารถแบ่งได้เป็นหนี้สินหมุนเวียน และหนี้สินระยะยาว

โดยหนี้สินหมุนเวียนนั้นจะต้องชำระคืนแก่เจ้าหนี้ไม่เกิน 1 ปีหรือใน 1 รอบระยะเวลาการปฏิบัติงานตามปกติของกิจการ เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ส่วนหนี้สินระยะยาว หมายถึง หนี้สินที่มีกำหนดชำระมากกว่า 1 ปี หรือเกินกว่าระยะเวลาการปฏิบัติงานตามปกติ เช่น หุ้นกู้ หรือเงินกู้ระยะยาว

ผู้ถือหุ้น หมายถึง ผู้มีสิทธิเรียกร้อง หรือมีส่วนได้เสีย สิทธิที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่เหนือสินทรัพย์ หลังจากหักสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ออกไปแล้ว เรียกว่า สินทรัพย์สุทธิ ซึ่งก็คือ สินทรัพย์ – หนี้สิน นั่นเอง

  1. งบกำไรขาดทุน: แสดงผลการดำเนินงานของบริษัทในงวดระยะเวลาบัญชีหนึ่ง ๆ

เช่น ในรอบไตรมาส ทุก 3 เดือน หรือ รอบปี โดยงบกำไรขาดทุนจะประกอบไปด้วยรายการหลัก 3 รายการ คือ

  • ยอดขายหรือรายได้ ซึ่งแบ่งออกเป็นรายได้โดยตรง ที่มาจากการขายสินค้าหรือบริการ กับรายได้อื่น ๆ ที่มาจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล รวมไปถึงจากการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เป็นต้น
  • ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และต้นทุน ซึ่งมาจากการผลิตสินค้าและบริการ รวมไปถึงค่าใช่จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานหรือดำเนินการด้านต่าง ๆ
  • กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งก็คือผลต่างที่เกิดจากการนำรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายในระยะเวลาตามรอบบัญชีนั้น ซึ่งจะทำให้เห็นตัวเลขกำไรขาดทุนที่แท้จริง

3.งบกระแสเงินสด: แสดงการเคลื่อนไหวของเงินสดในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง

เป็นงบการเงินที่แสดงการเคลื่อนไหวของเงินสดและรายการอื่น ๆ ที่เทียบเท่าเงินสดของธุรกิจในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นเงินสดรับและเงินสดจ่ายที่เกิดขึ้นจาก

  • กิจกรรมการดำเนินงาน ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่เป็นการดำเนินงานหลัก ๆ ของธุรกิจ ในส่วนที่ก่อให้เกิดรายได้
  • กิจกรรมการลงทุน ซึ่งหมายถึงการซื้อขายสินทรัพย์ระยะยาวและการลงทุนอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้และกระแสเงินสดในอนาคต เช่น จากการซื้อขายที่ดิน อุปกรณ์ อาคาร หรือจากการลงทุนในระยะยาว
  • กิจกรรมการจัดหาเงิน ซึ่งหมายถึง การลงทุนของเจ้าของธุรกิจ รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน เป็นต้น