ทำไม! สินค้าออนไลน์ ถึงอยู่ได้ไม่นาน 


1. เจ้าของสินค้า ไม่นำพากับแผนธุรกิจ คิดแต่ทำสินค้าออกมาขาย

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ที่หันมาทำธุรกิจมากขึ้น ยังขาดประสบการณ์การทำงานในระบบ ทำให้เวลาคิดและลงมือทำธุรกิจ จะมีกระบวนการที่เรียบง่าย ทำได้เลย เช่น คิดตัวสินค้า หาที่ผลิต ตั้งราคา แล้วก็เปิดขายเลยทันที โดยตัวสินค้าก็มักจะดูตามกระแส แห่ทำตามๆ กัน พึ่งพาแต่โรงงานผลิต ที่คอยให้คำปรึกษา และเสนอสูตรสินค้า ที่แทบจะเรียกได้ว่า ไม่แตกต่างกันเลย ผลสุดท้ายสินค้าก็ถูกผลิตออกสู่ตลาด มาฟาดฟัน ห้ำหั่นราคากันอย่างดุเดือดในไม่ช้า.. ที่สำคัญเมื่อเราเริ่มได้ไม่ยาก คนอื่นก็เช่นกัน ทำให้สินค้ามีออกใหม่แทบจะทุกวัน จนกลายเป็นตลาดแข่งเดือดเลือดพล่านอย่างรวดเร็ว.. สุดท้ายก็ไปไม่รอด..

2. มุ่งแต่หาตัวแทน แฟนพันธุ์แท้ที่ใช้สินค้ายังมีน้อย

ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ใจร้อน และไม่ได้คิดและวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ คิดแบบง่ายๆ ว่าสินค้าขายได้ จะขายให้ดี มียอดเยอะๆ ก็ต้องเปิดรับตัวแทน.. บางแบรนด์ ยังไม่ทันได้เห็นลูกค้าผู้ใช้สินค้า และขยายให้ฐานผู้ใช้สินค้ามีมากพอเลย.. ก็เปิดรับตัวแทน และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทน มาขายแทนเจ้าของแบรนด์ซะเลย.. ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นว่า เจ้าของแบรนด์ หรือตัวแทน VIP (ที่รับสต็อกสินค้ามาขายไว้เยอะ) จะหงุดหงิด เหวี่ยงวีน ตัวแทนออกแบบออกอากาศ เทศนากันยกใหญ่ มีให้เห็นทางเฟซได้ไม่ยาก.. สุดท้ายก็ไปไม่รอด..

3. สินค้าไร้แบรนด์ดิ้ง เอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก

ด้วยกระบวนความคิดที่ว่า อยากขายเยอะ ต้องมีตัวแทน.. ทุกสิ่งทุกอย่าง เลยพุ่งเป้าไปที่การขายผ่านตัวแทน ทุกการสื่อสารมุ่งสู่ตัวแทนเป็นหลัก ละเลย มองข้าม ไม่ติดตามความจริง จากกลุ่มผู้ใช้สินค้าอย่างพอเพียง ผลสุดท้ายธุรกิจเดี้ยง ยอดขายฝืด.. บางแบรนด์อาจมองว่า ทำแบรนด์ดิ้งสิ ทำไมจะไม่ทำ โชว์รูปสินค้า โลโก้ ชื่อแบรนด์ สโลแกน ทุกวัน วันละหลายโพสต์ แถมยิงโฆษณาเดือนนะ หลายหมื่น หรือเป็นแสน.. อยากบอกว่า แบรนด์ดิ้ง เค้าวัดกันที่การรับรู้ และมุมมองที่ผู้ใช้สินค้าเค้ารู้สึกต่อเรานะ ไม่ใช่ความรู้สึกของตัวแทน.. บางแบรนด์อาจบอกว่า เราก็โฆษณาแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สินค้านะ และก็ไม่น้อยด้วย.. ก็อยากบอกอีกว่า.. ถ้าคิดว่าโฆษณาแบรนด์ คือการสร้างแบรนด์ดิ้ง ก็ถูกแค่ส่วนหนึ่งครับ การสื่อสารสร้างแบรนด์ ต้องทำในหลากสื่อ หลายมุม ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ใช่แค่สื่อเดียว แล้วบอกว่า นี่คือการทำแบรนด์ดิ้งแล้วนะ.. นี่มันแค่ทำ.. แค่น้ำจิ้ม ไม่ใช่จานหลัก.. สุดท้ายก็อาจไปไม่รอด..

4. การตลาดสายมโน โชว์ว่าขายปัง แต่ยอดยังไม่ไปไหน

การตลาดสายมโน คือทางสองแพร่ง ดาบสองคม ของคนทำธุรกิจ ส่วนใหญ่เจ้าของสินค้า ขาดประสบการณ์ ก็จะได้โรงงานผลิต กูรูการตลาดออนไลน์ หรือเรียนรู้จากการขายสินค้าอื่นมาก่อนในฐานะตัวแทน พอมาทำแบรนด์เอง ก็จัดบ้าง.. เพราะการตลาดสายมโน.. ดูจะเป็นทางเดียวสำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่.. คนไม่รู้จักแบรนด์เรา พอรู้ปุ๊บ ก็ขายดีปั๊บเลย.. เก๋มั้ยล่ะ 555.. ไล่ตั้งแต่ รีวิวปลอม เงินโอนเข้าบัญชีปลอม สลิปไปรษณีย์ปลอม กองพัสดุปลอม มีจริงอยู่อย่างเดียวคือ สต็อกสินค้า เพราะยังขายไม่ออก.. แต่ก็มิวายบอกว่านี่ ล็อตสอง ล็อตสามแล้วนะ.. รีบสั่งเลย.. ราคาดี มีโปรแรง คนแย่งกันซื้อ.. ที่พีคคือ ล็อตใหม่ต้องรออีกนาน มโนหลอกทั้งตัวเอง และตัวแทนกันสนุกสนาน.. เมื่อเริ่มต้นด้วยการหลอก.. จึงไม่แปลกที่จะขายไม่ได้ดีนักในหลายแบรนด์.. สุดท้ายจึงไปไม่รอด..

5. ลูกค้าที่ซื้อจากออนไลน์ พร้อมเปลี่ยนใจได้เสมอ

ข้อนี้ คือจุดตายของสินค้าออนไลน์เลยทีเดียว เพราะด้วยกระแสของโซเชียล มีเดีย และโอกาสที่ใครต่อใครพูดกันนักหนาว่า ทำดีดีรวยได้ไม่ยากเลยนะ (แต่ปัจจุบันไม่ง่ายแล้วนะ เชื่อผมเถอะ) จริงอยู่ที่ว่าคนจำนวนมากเล่นโซเชียล มีเดีย และติดโซเชียลแบบอาการหนักเอาการเสียด้วย แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การใช้สินค้าอย่างต่อเนื่อง.. ลูกค้าต้องดูคุณภาพ และคุณค่าสินค้า ถ้าสินค้าดีทั้งคุณภาพและคุณค่า การซื้อต่อเนื่องก็มีความเป็นไปได้สูง.. แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยเรื่องกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย กลุ่มคนที่ใช้งานโซเชียล มีเดียเป็นหลัก จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ต้องรับมือกับ ความไม่แน่นอนเพราะ กลุ่มเป้าหมายมีความอยากลอง ชอบเปลี่ยน แสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเดิม ขี้เบื่อ ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานโซเชียล มีเดีย และการเลือกช็อปทางออนไลน์ ทำให้โอกาสการเปลี่ยนใจลองสินค้าแบรนด์อื่นมีไม่น้อยเลย.. สุดท้าย เก่าไปใหม่มา ของเดิมไม่ดีกว่า.. ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับของที่ดีกว่า.. สุดท้ายจึงไปไม่รอด..

นี่คือ 5 สาเหตุที่ทำไม สินค้าออนไลน์ จึงอยู่ได้ไม่นาน.. ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าเลิกขายนะ..

เพียงแต่ว่า ขายได้น้อยลง น้อยลงไปเยอะ จนกระทั่งไม่น่าทำ.. และเมื่อเจ้าของสินค้าไม่ได้เริ่มต้นจากแผนธุรกิจที่ชัดเจนเป็นรูปร่างชัดเจน จะแปลกอะไรถ้าจะเลิกทำ แล้วหันไปออกสินค้าแบรนด์ใหม่ ตัวอื่น เพราะหากขืนฝืนกระแส ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบ.. เพราะโลกธุรกิจ ต่อให้คุณจะสร้างภาพว่าขายดิบขายดี มีกำไรมากมาย.. แต่ความเป็นจริงขายไม่ได้.. สุดท้ายบทสรุปของมันก็คือเจ็บจริง และอาจถึงกระอักเลือดตายได้เลย.. วิริทธิพล ปัญญาพรพุฒิเมธ