จัดตั้งเป็นคณะบุคคล VS จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด แบบไหนดีกว่ากัน?


อยากเปิดบริษัท จัดตั้งเป็นคณะบุคคล หรือ เป็นบริษัทจำกัด แบบไหนดีกว่ากัน?

คุณถนอม เกตุเอม เจ้าของ Facebook Fanpage : TaxBugnoms ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ SME Smart Service ไว้ว่า “การจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดจะดีกว่า”  เนื่องจากตั้งแต่ปี2557 คณะบุคคลมีกำไรเสียภาษีไปแล้วรอบหนึ่ง พอแบ่งกำไรให้กับคณะบุคคลก็ต้องเสียภาษีอีกรอบหนึ่ง จึงเท่ากับเสียภาษีหลายต่อ บัญชีรายรับรายจ่ายต้องทำเป็นหลักฐานโดยละเอียดหลายส่วนจึงค่อนข้างที่จะวุ่นวาย ดังนั้นการจดทะเบียนเป็นแบบบริษัทจำกัด จะง่ายกว่า ซึ่งแบบคณะบุคคลทางกฎหมายทางกฎหมายออกมาให้ยุ่งยากเนื่องจากต้องการให้ประชาชนเลิกใช้ เนื่องจากเป็นการขยายฐานภาษีที่ให้คนเสียภาษีน้อยลง พอมีความยุ่งยากจากเดิมที่คณะบุคคลเคยเป็นเรื่องของการวางแผนภาษีก็จะเปลี่ยนเป็นไม่ใช่แล้ว

และล่าสุดนั้นทางกรมสรรพากรออกมาตรการภาษีสนับสนุนให้ SME รายย่อยไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แม้ว่าเราจะทำธุรกิจคนเดียวก็สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งบริษัทได้แล้ว โดยมาตรการภาษีที่นิติบุคคลจะได้รับได้แก่

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2559 – 31 ธ.ค. 2560

2. ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี

3. ลดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของบุคคลธรรมดาเหลือ 60% จากเดิมที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 85% นั่นก็แปลว่าบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจแต่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคลจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยมีผลสำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

4. ลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดของบุคคลธรรมดาไปให้นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ภายในปี 2560 จาก 2% ของราคาประเมิน เหลือเพียง 0.01% โดยมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

5. อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ให้นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ได้

เมื่อรู้หลักการเช่นนี้แล้วใครที่กำลังตัดสินใจเปิดบริษัทต้องพิจารณาตัดสินใจให้รอบคอบ  และฝากไว้นิดนึงสำหรับคนที่จ้างคนวางแผนภาษี แม้คุณจะจ้างแต่ก็ควรเรียนรู้หลักการเบื้องต้นไว้ด้วย เพราะมิใช่นักวางแผนภาษีที่เราจ้างทุกคนจะเก่งเสมอไป กับบางคนเขาอาจยังไม่เคยถูกตรวจสอบก็ได้ หากผิดพลาดขึ้นมาคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือตัวคุณเอง