แฟรนไชส์แบรนด์ไทย ในตลาดต่างประเทศก้าวต่อไปในอนาคต


สัมภาษณ์พิเศษ คุณเซ็ธ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ Managing Director; GNOSIS Company Limited

เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อมองในแง่ของ แฟรนไชส์แบรนด์ไทย แล้ว เรามีข้อได้เปรียบแบรนด์จากต่างประเทศ หรือเป็นจุดดีจุดเด่น ตรงที่เราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่ม Local หรือกลุ่มท้องถิ่นอยู่แล้ว เนื่องจาก แฟรนไชส์แบรนด์ไทย ทำธุรกิจมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศ และเจ้าของลิกขสิทธิ์แฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอ) หลายคนคงนึกไม่ออกว่าทำธุรกิจออกมาเพื่อขายให้คนทั่วโลกต้องเป็นยังไง ฉะนั้นสำหรับการเจาะลูกค้าต่างชาติ แฟรนไชส์ซอก็ยังคงต้อง Customize หรือปรับเปลี่ยนเมนู วิธีการให้บริการ ให้สอดคล้องกับธุรกิจที่จะก้าวต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่างที่ทำอยู่ก็เป็นตัวแทนแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาหานักลงทุนในประเทศไทย หลายๆแบรนด์ที่นำเข้ามาก็ต้องเซ็ตใหม่ อย่างการจัดไซส์ ให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มแฟรนไชส์ไทยที่เจาะตลาด Local จะได้เปรียบในส่วนนี้ เพราะเขาเข้าใจรสชาติ เข้าใจงานบริการ เพื่อตอบสนองคนไทยจริงๆ อีกส่วนที่ดีคือเงินลงทุนมีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่จะมาลงทุนต่อ (แฟรนไชส์ซี) ทำให้รู้ว่าเงินลงทุนเท่าไหร่จึงจะดี เงินลงทุนเท่านี้ต้องจ่ายออกไปเท่าไหร่ แล้วจะคืนทุนอย่างไร มีการคำนวณได้จริงตามอัตราส่วนที่เกิดขึ้น เหล่านี้ทำให้แฟรนไชส์เจ้าใหญ่ๆจากต่างชาติที่เข้ามาจะทำธุรกิจยากขึ้น

มาดูที่ข้อเสียของ แฟรนไชส์แบรนด์ไทย บ้าง

แฟรนไชส์ซอ ส่วนใหญ่ที่ต้องการขยายหรือเติบโตขึ้นไป มักไปต่อตลาดต่างชาติยาก เนื่องจากให้น้ำหนักกับความต้องการของลูกค้าภายในประเทศมากเกินไป จึงทำให้เวลาต้องการขยายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นผู้เป็นแฟรนไชส์ซอต้องมองภาพรวมธุรกิจสำหรับการขยายตัวในระดับ Global มากขึ้น มองในแง่ของมาตรฐานของธุรกิจที่กว้างขึ้น ควรคิดเสมอว่าถึงแม้เราจะทำธุรกิจเพื่อคนไทยแต่ก็ต้องพร้อมเปิดทางสำหรับการขยายธุรกิจไปต่างชาติด้วย หลายๆครั้งที่แฟรนไชส์แบรนด์ไทยไปต่างประเทศไม่ได้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งชื่อร้าน ทั้งงานบริการ และรูปแบบบริหารจัดการต่างๆ ไม่ตรงใจลูกค้าต่างประเทศ หรือไม่ได้มาตรฐานต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องไปศึกษาเพิ่มเติม

แฟรนไชส์อาหารเติบโตสูงขึ้น ที่ไหนน่าไปต่อ

ถ้าเป็น Southeast Asia ควรไปที่อินโดนีเซีย เพราะรสชาติใกล้เคียงกันมีลักษณะการทานอาหารคล้ายกัน และอินโดนีเซียเองเป็นประเทศที่ใหญ่และมีประชากรมากถึง 264 ล้านคน บางคนมองว่าถ้าไปอินโดนีเซียต้องเป็นอาหารฮาลาล ซึ่งมันก็ใช่แต่ไม่ทั้งหมด เพราะมีอีกกว่า 13% ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ทำให้เรามีตลาดส่งออกวัตถุดิบเพิ่มขึ้นและง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีแถบประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและกัมพูชาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพียงแต่ตลาดจะไม่ใหญ่เท่าอินโดนีเซีย สำหรับการไปประเทศอื่นๆนอกจากนี้ เราต้องขยายตลาดแบบไม่ใช้รสชาติอาหารที่เป็นรสจัดมาก แต่ควรเป็นอาหารแล็บที่เน้นรสชาติกลางๆ

แฟรนไชส์ประเภทเครื่องอัตโนมัติมีโอกาสแค่ไหน

เครื่องอัตโนมัติสำหรับในประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากเราพยายามมี vending machine มานานแล้ว แต่เพราะความปลอดภัยในอดีตยังไม่มี ซึ่งปัจจุบันก็มีแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในมากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นมาก บวกกับคนกำลังชอบเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งมีความสะดวกสบาย จึงมีโอกาสเติบโตอยู่มาก แต่ต้องเข้าใจว่ามันคงไม่ใช่เป็นลักษณะของการหยอดเหรียญ เพราะต้องเชื่อมโยงกับระบบ e-payment เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ทำแฟรนไชส์ให้รุ่ง ต้องใส่เทคโนโลยีทันสมัย

อย่างแฟรนไชส์แบรนด์ใหม่ๆที่น่าสนใจตอนนี้ ก็จะมีแบรนด์ อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย (Otteri WASH & DRY) เปิดมาหลายสาขาแล้ว เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ มีสินค้าที่เขาได้ผลิตและนำเข้ามาอยู่แล้ว ใช้ระบบและเทคโนโลยีแบบ 4.0 ซึ่งจะมีไดช์บอร์ด คือไม่ใช่ทำเป็นตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ แต่จะออกแบบเป็นคอมมิวนิตี้ให้คนมานั่ง เจ้าของธุรกิจสามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกอย่างคอนเน็คกับระบบ ทำให้รู้ทันทีว่าตู้ไหนว่าง ตู้ไหนไม่ว่าง ตู้ไหนซักอยู่ ต้องซักอีกกี่นาที ละยังสามารถดูข้อมูลในไอแพดได้แบบเรียลไทม์ว่าเก็บเงินได้กี่บาทแล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของแฟรนไชส์ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ระบบการดำเนินงานง่ายขึ้น ทำให้คนที่ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) บริหารธุรกิจง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องไปนั่งเฝ้าร้าน หรือกังวลเรื่องการซ่อมบำรุง และเห็นผลตอบแทนที่เข้ามาอย่างคุ้มค่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเป็นเทรนด์การทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่มาแรงมาก เนื่องจากตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ จึงเป็นแฟรนไชส์ที่เติบโตรวดเร็ว นอกจากนั้นเทคโนโลยียังเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการหาความเหมาะสมของแฟรนไชส์ซอและแฟรนไชส์ซี อย่างการทำ Personality Test หรือการทำแบบทดสอบข้อมูลบุคลิกภาพของผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) ที่เหมาะสมกับเราได้ โดยไม่ต้องมานั่งสัมภาษณ์แบ็คกราวผู้ซื้อที่เราไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งการทดสอบนี้จะสามารถรู้ได้ทันที่ว่าผู้มาขอซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) คนนั้นเหมาะกับธุรกิจของเรามั้ย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของระบบ Chat Bot และระบบการเงินหลังบ้าน ที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น

ธุรกิจการศึกษา ยังเป็นแฟรนไชส์ที่น่าลงทุน

หมายถึงธุรกิจการศึกษาที่ไม่ใช่เกี่ยวกับด้านการกวดวิชาเท่านั้น ซึ่งแฟรนไชส์ต้องเน้นการศึกษาเรียนรู้เฉพาะด้านมากขึ้น พร้อมกันนั้นต้องช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้วย ที่ต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาก็เพราะคนที่ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ต้องมีความรู้มาก่อน แต่มันมีระบบหลังบ้านเพื่อช่วยให้ระบบบริหารจัดการง่ายขึ้น ไม่มีความยุ่งยากอย่างการทำอาหาร และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก เช่นการเรียนรู้ผ่าน e-learning ที่สมารถเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ มีระบบการจัดการที่ช่วยซัพพอร์ต และมีผลตอบแทนสูง

“แฟรนไชส์ถือเป็นระบบที่ช่วยขยายธุรกิจ ดังนั้นก่อนซื้อแฟรนไชส์ ไม่อยากให้มองที่เม็ดเงินตอบแทนเป็นอันดับแรก แต่ให้มองว่าธุรกิจเหล่านั้นมันจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรให้กับเราได้ในอนาคต ซึ่งผลตอบแทนมันจะตามมาจากตรงนี้”

อ่านบทความ แฟรนไชส์ซอ อื่นๆ >>>[คลิก]