การวิเคราะห์คู่แข่งขัน เพื่อเอสเอ็มอีเป็นต่อทางธุรกิจยุค 4.0


“การวิเคราะห์คู่แข่ง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาธุรกิจที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจและนำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อให้รู้ถึงภาพรวมและสภาพแวดล้อมของธุรกิจ สภาวะการแข่งขัน และจำนวนคู่แข่งในตลาด นอกจากนี้ การวิเคราะห์คู่แข่ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ และสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ สำหรับการวิเคราะห์คู่แข่ง ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์ตามประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ใครคือคู่แข่งปัจจุบันและคู่แข่งในอนาคต

เมื่อทราบว่าใครคือคู่แข่งและจำนวนของคู่แข่งในตลาดแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาความเชื่อของคู่แข่งในการดำเนินธุรกิจ เช่น หากคู่แข่งเชื่อว่าเป็นผู้นำตลาด มีเทคโนโลยีที่สูง มีทีมงานวิจัยที่เก่ง แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

“ความเชื่อของคู่แข่ง” เป็นตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์คู่แข่ง เพราะความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดความสามารถ กลยุทธ์และเป้าหมายในองค์กรของคู่แข่ง เมื่อผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ความเชื่อของคู่แข่งได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ในการการวางกลยุทธ์และกำหนดความเคลื่อนไหว ตลอดจนช่วยในการกำหนดตำแหน่งการแข่งขันที่ได้เปรียบคู่แข่งได้

การวิเคราะห์เป้าหมายในอนาคตของคู่แข่ง

ดูจากข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบันว่าคู่แข่งใช้วิธีการใดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงถึงเป้าหมายของคู่แข่ง หากผู้ประกอบการรู้เป้าหมายของคู่แข่ง ก็จะสามารถคาดการณ์การบรรลุเป้าหมายของคู่แข่ง และเชื่อมโยงไปถึงสถานการณ์ในอนาคตของคู่แข่งได้

ตัวอย่าง หากบริษัท A ให้ความสำคัญกับส่วนครองตลาด การเติบโตของยอดขาย อัตรากำไร ในอนาคต ก็มักจะมองบริษัท B และ C ที่มีวัตถุประสงค์หรือแนวทางตรงกันว่าเป็นคู่แข่ง ส่วนบริษัท D ที่มีเป้าหมายวัตถุประสงค์ต่างออกไป ไม่ใช่คู่แข่ง

การวิเคราะห์ความสามารถของคู่แข่ง

เพื่อศึกษาถึงจุดเด่นและจุดด้อยในแต่ละด้าน เช่น หากคู่แข่งมีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการอาจจะเลี่ยงการโจมตีหรือต่อสู้กับจุดเด่นด้านเทคโนโลยี แต่หันไปโจมตี หรือเลือกแข่งในด้านที่เป็นจุดด้อยหรือจุดอ่อนของเขาแทน เช่น เน้นการให้บริการที่ดีและเป็นกันเองมากกว่า หรือ หากจุดเด่นของคู่แข่งคือสามารถผลิตได้โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำมาก ผู้ประกอบการอาจหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในด้านราคา แต่หันมาเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า หรือมองหาตลาดใหม่

การวิเคราะห์กลยุทธ์ที่คู่แข่งใช้ในปัจจุบัน

รวมถึงการศึกษานโยบายในระดับหน้าที่ต่าง ๆ ที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน เช่น นโยบายการเงิน การตลาด การผลิต การจัดการ และการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์กลยุทธ์ของคู่แข่งเหล่านี้ จะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงแนวโน้มในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของคู่แข่ง และนำมาใช้พิจารณากลยุทธ์เพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือโจมตี

จะเห็นว่าการวิเคราะห์ความเชื่อและเป้าหมายของคู่แข่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์และปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน  ในขณะที่การวิเคราะห์ความสามารถ จุดเด่นและจุดด้อยของคู่แข่ง จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์เพื่อตอบโต้คู่แข่ง โดยนำจุดด้อยของคู่แข่งมาพัฒนาเป็นจุดเด่นของธุรกิจเรา รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง