‘กรมการข้าว’ สานต่อยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่ายกระดับราคาข้าว พัฒนาตราสินค้าข้าวตลาดเฉพาะ


กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัด “พิธีมอบตราสินค้าข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ 2560”สานต่อยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่ายกระดับราคาข้าวไทย ในโครงการ ส่งเสริมและพัฒนาตราสินค้าข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) จัดทำตราสินค้าของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพ ให้มีอัตลักษณ์ สร้างมูลค่า และสามารถไปสู่ธุรกิจค่าปลีกสมัยใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานมอบตราสินค้าให้กลุ่มเกษตรกร จำนวน 9 ตราสินค้า จากทั่วภูมิภาคของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ณ ห้อง รัชดาแกรนด์บอลรูม โรงแรมรัชดาซิตี้ ถนนรัชดาภิเษก

นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย

นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว เปิดเผยว่า “ตามนโยบายของรัฐบาล การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว โดยกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ ปีงบประมาณ 2560 เพื่อการส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนการตลาดสินค้าข้าวตลาดเฉพาะอย่างเป็นระบบและให้ได้มาตรฐาน เป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าข้าวคุณภาพพิเศษ และมีคุณสมบัติโดดเด่น เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์ กลุ่มข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือข้าวจีไอ (Geographic indication : GI) กลุ่มข้าวโภชนาการสูง เพื่อเข้าสู่ตลาดสินค้าเกษตรสมัยใหม่ (Modern Marketing) เป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อสินค้าและยกระดับราคาข้าวคุณภาพพิเศษเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นผลให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าว ผู้ประกอบการสินค้าข้าวคุณภาพและชุมชนดังกล่าวมีรายได้มากขึ้น

จากสภาวะการแข่งขันทางการค้าปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงขึ้น และราคาสินค้าข้าวแทบไม่มีความแตกต่างกัน กลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบการด้านข้าวที่มีความเข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดได้ แนวทางการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบการเพื่อสินค้าเป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อ ผู้บริโภค คือการสร้างตราสินค้า (Brand) ของกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบการด้านข้าว สะท้อนภาพลักษณ์ คุณสมบัติและคุณภาพของสินค้าข้าวของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งทำให้สามารถขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น

การสร้างตราสินค้า (Brand) คือการทำให้สินค้าข้าวมีความแตกต่างจากคู่แข่ง ความแตกต่างทางกายภาพ ทางจิตวิทยาและป้องกันไม่ให้คู่แข่งมีความทัดเทียมหรือความเหมือนในสายตาของผู้บริโภค เกิดทัศนคติที่ดีต่อตราสินค้า เกิดความเชื่อมั่น การนึกถึงและเกิดการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เป็นความภักดีในตราสินค้า (Brand Royalty) การสร้างตราสินค้าจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของเกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพพิเศษที่จะนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างยอดขาย ทำให้มีผลกำไร มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงาน ส่งเสริมและพัฒนาตราสินค้าข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ (Niche Market) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำตราสินค้าของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพให้มีอัตลักษณ์ สร้างมูลค่า และสามารถไปสู่ธุรกิจค่าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในการสร้างตราสินค้า และตระหนักถึงคุณค่าของตราสินค้า (Brand) รวมทั้งรู้จักการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด และการรักษาตราสินค้าให้แก่กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเพื่อจัดทำต้นแบบการบริหารจัดการตราสินค้าอย่างยั่งยืนของเกลุ่มเกษตรกร และเพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ตราสินค้าข้าวของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคโดยกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการจัดการสินค้า เพื่อสร้างตราสินค้าให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มมีการรวมตัวกันภายใต้ตราสินค้าสินค้าเดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดต่อไป โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 9 ตราสินค้า ดังนี้

1. “ข้าวอินทรีย์พญาหงส์” จังหวัดนครพนม จาก วิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเองบ้านหนองสะโน

2. “ข้าวแก่นฝาง” จังหวัดขอนแก่น วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพแก่นฝาง

3. “ชาวนาชั้นนำ” จังหวัดมหาสารคาม วิสาหกิจชุมชนบ้านเก่าน้อย

4. “ผักไหมออร์แกนิคฟาร์ม” จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลผักไหม

5. “ข้าวคุณหนู” จังหวัดอุบลราชธานี วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ม่วงฮี

6. “ข้าวลืมผัว” จังหวัดตาก วิสาหกิจชุมชนข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว

7. “ข้าวเพชรคอรุม” จังหวัดอุตรดิตถ์ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม

8. “ข้าวพรานนาข้าว” จังหวัดเพชรบูรณ์ วิสาหกิจชุมชนข้าวหลามน้ำหนาวแม่เสลี่ยง

9. “ข้าวทิพย์ช้าง” จังหวัดลำปาง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงตราสินค้าข้าวจากเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ตราสินค้า ให้ผู้สนใจได้ร่วมเข้าชมเพื่อแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ต้นแบบเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้”

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์: 02-5614970 , แฟกซ์ 0-2561-5286 หรือ http://www.ricethailand.go.th

 

กรมการข้าว

 

กรมการข้าว

กรมการข้าว