พฤติกรรมการซื้อของชาวเวียดนาม เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว


บทความจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

Hoang Thuy สาว ชาวเวียดนาม วัย 25 ปี ผู้ที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีและพกพาสมาร์ทโฟนติดตัวอยู่เสมอ ในเวลาว่างจากงาน มีงานอดิเรกคือการช้อปปิ้งออนไลน์เช่นเดียวกับคนวัยเดียวกัน นอกจากนั้น เธอยังดูโฆษณาสินค้าผ่านทาง Facebook, Zalo และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพื่ออัพเดทเทรนด์เกี่ยวกับแฟชั่นและไลฟ์สไตล์อยู่เสมอ

Hoang Thuy ทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ละเดือนเธอใช้เงินซื้อสินค้าแฟชั่น อย่างเสื้อผ้า แว่นตา รองเท้าและเครื่องประดับอื่นราว 1 ใน 5 ส่วนของรายได้ หรือ 450 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจจากแบรนด์ดัง เช่น Mango, Zara หรือ Gap

ก่อนการสั่งซื้อออนไลน์ เธอและเพื่อนๆจะรวบรวมข้อมูลของผลิตภัณฑ์จากทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมค้นหาความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากเว็บโซเชียลต่างๆ แม้แต่ไปที่หน้าร้านเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ก่อนสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์

Hoang Thuy บอกว่าราคาเป็นสิ่งสำคัญ เธอเลยชอบค้นหาส่วนลดและโปรโมชั่นของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนก็สามารถช่วยเธอค้นหาราคาที่ดีที่สุดได้

ผู้บริโภคที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี อายุระหว่าง 21-35 ปี มีรายได้ค่อนข้างสูง อย่าง Hoang Thuy ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เต็มใจใช้จ่ายเงิน พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดค้าปลีกของเวียดนามในอนาคต

Hoang Thuy และคนวัยเดียวกัน จึงถือเป็นลูกค้าเป้าหมายของผู้ค้าปลีก เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 93 ล้านคน โดยร้อยละ 65 เป็นวัยหนุ่มสาว สำหรับตลาดเกิดใหม่ของเวียดนามลูกค้าส่วนใหญ่ทำธุรกรรมต่างๆผ่านสมาร์ทโฟน เนื่องจากสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา

ไม่เพียงแค่นั้น ในระหว่างวันผู้บริโภคยังสามารถสั่งซื้อสินค้าต่างๆ แม้แต่ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ผ่านบริการมากมาย มีขั้นตอนการลงทะเบียนที่ง่าย และหนึ่งในบริการที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับผู้ไม่มีเวลาว่าง คือการจองบริการล่วงหน้า เช่น อาหารหรือสินค้าอื่นๆ เพื่อความสร้างสะดวกรวดเร็ว

การแข่งขันให้ตรงจุด กับรสนิยมที่เปลี่ยนไปของ ชาวเวียดนาม

ศูนย์การค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของผู้ค้าปลีกหลายช่องทางรวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ผู้ค้าปลีกไม่เพียงแต่แข่งขันเพื่อโลเคชั่นที่ดี แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีการบริการใหม่

พฤติกรรมการช้อปปิ้งของลูกค้าได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีมีอย่างรวดเร็ว บริการใหม่ ๆ จึงได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า

ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น VinCom, Lotte, AEON และ Saigon Co.op ได้เปิดตัวการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เพื่อส่งเสริมการขายและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

ห้างสรรพสินค้า Vincom ในเครือ Vingroup เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ปัจจุบันมีศูนย์การค้าทั้งสิ้น 46 แห่งใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ และในปี 2018 นี้ Vingroup ตั้งเป้าที่จะเปิดศูนย์การค้าเพิ่มอีก 50 แห่ง

Vincom นับว่าเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของแบรนด์ระดับโลกที่จะเข้ามาเจาะตลาดค้าปลีกในเวียดนาม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Vingroup ได้เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยการจัดตั้ง VinE-com Ltd. พร้อมปรับจุดยืนธุรกิจใหม่ เพื่อก้าวเป็นผู้นำของตลาดอีคอมเมิร์ซในอนาคต โดย Vingroup ลงทุนอย่างมากในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อมุ่งหวังให้ VinE-com แข่งขันกับบริษัท Lazada ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวแทน Vincom กล่าวว่านอกเหนือไปจากการขายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกในเครือ Vingroup (Vinmec, Vinpearl, VinMart, VinEco, VinPro และ VinDS) ทางเว็บไซต์ได้ร่วมมือกับผู้จำหน่ายสินค้าชื่อดังที่มีหน้าร้านอยู่ใน Vincom ให้นำผลิตภัณฑ์มาขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปี 2017 มีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ทำรายได้สูงสุดให้เว็บไซต์ adayroi.com ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคมีการสั่งซื้อมากที่สุด และเว็บไซต์ adayroi.com ยังเป็นเว็บไซต์เดียวที่ขายรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ออนไลน์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ของโรงพยาบาล Vinmec ในด้านของความบันเทิงก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก Vingroup ได้เสนอบัตรกำนัลรีสอร์ทที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

AEON Mall ซึ่งเป็นอยู่ในเครือ AEON Group ของญี่ปุ่นก็กำลังเติบโตอยู่ในเวียดนาม โดยมีห้างสรรพสินค้า 4 แห่ง ในกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์และจังหวัดทางตอนใต้ของบิ่นห์เยือง พร้อมเตรียมเปิดอีกสองแห่งในกรุงฮานอยและเมืองท่าเรือทางตอนเหนือของนครไฮฟอง ซึ่งในปี 2025 บริษัทมีเป้าหมายที่จะมีศูนย์การค้า 20 แห่งในเวียดนาม เมื่อต้นปี 2018 จึงได้เริ่มเปิดตัวอีคอมเมิร์ซ AeonEshop เพื่อขายสินค้าญี่ปุ่นและสินค้าเวียดนาม การเปิดตัวของ AeonEshop มีส่วนช่วยลดความกังวลของลูกค้าชาวเวียดนามที่ต้องการใช้สินค้าคุณภาพดีของญี่ปุ่น โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่บนชั้นวางของที่ AEON มีวางขายที่ AeonEshop และผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายการภายใต้แบรนด์ Topvalu (แบรนด์ของ AEON) ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ที่จัดสรรไว้สำหรับคุณแม่และเด็กแรกเกิด ได้รับการยกย่องจากลูกค้าว่ามีคุณภาพสูง โดยในอนาคตอันใกล้ AeonEshop จะขยายไปทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2018

Lotte Group ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของเกาหลีใต้ มีเป้าหมายที่จะเปิดศูนย์การค้า 60 แห่งในเวียดนามภายในปี 2020 ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2016 บริษัทได้เปิดเว็บไซต์ vn สำหรับการขายสินค้าออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Moon Jung Soon ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของ Lotte.vn กล่าวว่าบริษัทจะสนับสนุน 3 ช่องทาง ได้แก่เว็บ, เว็บบนมือถือและแอพฯ เพื่อให้สร้างความสะดวกในการช้อป

เมื่อการแข่งขันในเวียดนาม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องราคาอีกต่อไป

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ศูนย์การค้าต้องใส่ใจในการนำเสนอประสบการณ์พิเศษ เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าอีกต่อไป โดยแนะให้ลดจำนวนศูนย์การค้าและเน้นเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ปรับแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งของลูกค้า

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้ามาบุกตลาดเวียดนาม เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นต้น ซึ่งสามารถกระจายสินค้าผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้

  • ผ่านช่องทางร้านค้าปลีก สำหรับปัจจุบันมีร้านค้าปลีกในเวียดนามที่ลงทุนโดยบริษัทไทย เช่น กลุ่มบริษัท Central ที่ลงทุนในกิจการซุปเปอร์มาเก็ต Big C และกลุ่มบริษัท BJC ที่ลงทุนในร้านสะดวกซื้อ B’Smart และห้างค้าปลีก/ส่ง MM MegaMall ซึ่งถือว่าเป็นอีกช่องทางที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตผู้บริโภคจะค่อยๆ เปลี่ยนไปนิยมการจับจ่ายจากห้างค้าปลีกแบบ Modern trade มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ทันสมัย
  • ช่องทางออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยปัจจุบันชาวเวียดนามหันมาช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่สูงนัก แต่โดยรวมแล้วตลาดออนไลน์ในเวียดนามยังถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์เพราะถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยผู้ประกอบการอาจจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่เป็นที่นิยมและมีแพลตฟอร์ตอยู่แล้วในเวียดนาม ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคเวียดนาม ควรระบุแหล่งที่มาของสินค้า รายละเอียด คุณภาพสินค้า การจัดส่งสินค้าและการรับชำระเงินให้ถูกต้องชัดเจน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคก่อนการลงทุน อาจจะเป็นการสำรวจตลาดก่อนการกระจายสินค้า เช่น การออกบูธแสดงสินค้า ซึ่งจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มาเดินภายในงานได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ทำให้สามารถสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และนับเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้พบคู่ค้าหรือคู่แข่งทางธุรกิจ สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้พัฒนาธุรกิจได้ในอนาคต หากผู้ประกอบการสนใจออกบูธแสดงสินค้าไทยในเวียดนาม สามารถเข้าร่วมงาน Top Thai Brand ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้หากผู้ประกอบการต้องการข้อมูลร้านค้าปลีก เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในเวียดนามหรือต้องการเข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้า สามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์