เอาชนะคู่แข่งขัน ด้วยการสร้างความแตกต่างให้สินค้าและบริการ


การประกอบธุรกิจ วิสัยทัศน์ในการทำงานที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง หากไม่มี การสร้างความแตกต่าง ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนแย่งลูกค้าไปได้ทุกเมื่อ

กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง สามารถทำได้โดยไม่จำกัดอยู่ที่ตัวสินค้าเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ภาพลักษณ์ของร้านค้า หรือการบริการ อย่างไรก็ตามการสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือการสร้างความแตกต่างที่ตัวสินค้าเพื่อเป็นจุดขาย ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ความสามารถหรือการใช้งานของสินค้าที่แตกต่าง (Product Features)

ความสามารถหรือการใช้งานของสินค้าที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจุดเด่น แม้จะมีความต่างเพียงเล็กน้อย แต่สามารถตอบสนองความต้องการหรือสร้างความพึงพอใจของลูกค้าได้ เช่น การใช้งานง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน หรือความทนทาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจาก “ช่องว่าง”  ของความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม ผู้ประกอบการจึงต้องรีบค้นหาและผลิตขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

  • การเล่าเรื่องของสินค้าและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่าง (Story and History)

การเล่าเรื่องของสินค้าและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่าง เป็นการบอกเล่าถึงที่มาของสินค้า เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้า โดยเรื่องราวต่างๆนั้น ต้องมีคุณค่าทางจิตใจและมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าด้วย เช่น สินค้า OTOP มีความเป็นมาและเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความพิถีพิถันในการผลิตแบบ Hand-Made เป็นต้น

  • การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่าง (Product and Package Design)

การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่าง นับเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ด้านอื่น เพราะรูปลักษณ์ของสินค้าและบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ปัจจุบันสินค้ายังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงรสนิยม และภาพลักษณ์ของผู้ใช้ด้วย การออกแบบจึงต้องมีจุดเด่นชัดเจนและมีความต่อเนื่อง

  • ราคาที่แตกต่าง

สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายตามท้องตลาด มักจะมีราคาใกล้เคียงกัน บางประเภทมีราคาขายเท่ากัน หรือมีการลดราคาต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าที่ไม่ได้นำเหตุผลเรื่องราคามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างความแตกต่างด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย

  • บริการที่แตกต่าง

ธุรกิจบางประเภทมีต้นทุนต่ำกว่า แต่สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้มากกว่า เนื่องจากมีบริการที่น่าพึงพอใจ เช่น บริการรวดเร็ว บุคลากรด้านบริการมีมนุษยสัมพันธ์ดี หรือมีการดูแลเอาใจใส่ด้านอื่นๆที่ดี สิ่งเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างเพื่อการตอบรับจากลูกค้าที่ดีด้วยเช่นกัน

  • ภาพลักษณ์ที่แตกต่าง

ถือเป็นกลยุทธ์ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ลูกค้าให้ความสนใจว่าใครเป็นผู้ผลิตสินค้ามากขึ้น การสื่อสารภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการสร้าง รักษา และปกป้องภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และองค์กร เป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในทุกระดับขององค์กร

การสร้างความแตกต่าง ทำได้หลายวิธี หลายรูปแบบ ทั้งความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ ช่องทางการจำหน่าย หรือการจัดโปรโมชั่น สิ่งสำคัญคือต้องมีความสอดคล้องกับส่วนประสมทางการตลาดด้านอื่น และความแปลกใหม่นั้นต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมทั้งต้องมีการสื่อสารเพื่อให้ลูกค้ารับรู้ถึงความแตกต่าง เพื่อการเป็นผู้นำทางการตลาดอย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว