ธุรกิจแฟรนไชส์ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีผู้สนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก เพราะด้วยรูปแบบการทำธุรกิจสูตรสำเร็จจึงทำให้ง่ายต่อการลงทุน แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้และเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์อย่างแท้จริง ครั้งนี้ Smart SME ขอนำเสนอ 10 ข้อ ที่ผู้ลงทุนควรรู้ก่อนลงทุนแฟรนไชส์
1.รู้ว่าแฟรนไชส์ (Franchise) คือ อะไร Franchise หมายถึง ระบบธุรกิจที่แบ่งออกเป็น 2 ตัวละครหลัก คือ 1.แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เจ้าของสิทธิ ผู้คิดค้นวิธีการดำเนินธุรกิจนั้นๆ เป็นผู้ขายสิทธิ หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจ 2.แฟรนไชส์ซี (Franchisee) ผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อรูปแบบธุรกิจนั้นๆ ตามระบบที่เจ้าของสิทธิได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าเดียวกัน
2.รู้ตัวว่าต้องการอะไร และหาข้อมูล ถามตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร สนใจหรือชอบธุรกิจไหน ที่สำคัญต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าอยากจะทำธุรกิจอะไร จากนั้นค้นหาธุรกิจที่สนใจ ปัจจุบันแฟรนไชส์ประกอบไปด้วยธุรกิจหลายประเภท แต่ละประเภทมีหลายแบรนด์ให้เลือก เบื้องต้นควรเลือกประเภทธุรกิจที่เราสนใจจากหลายๆ แบรนด์มาดูภาพรวมความแตกต่าง หาข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละแบรนด์
3.เปรียบเทียบข้อมูล และวิเคราะห์โดยละเอียด นำแฟรนไชส์ที่เลือกไว้มาเปรียบเทียบกันในเรื่องของ ข้อแตกต่างของแต่ละแบรนด์ รูปแบบธุรกิจ งบการลงทุน เงินหมุนเวียน สัดส่วน และวิธีการแบ่งผลตอบแทน ผลกำไรที่จะได้คิดเป็นต่อหน่วย รวมไปถึงการประเมินระยะเวลาคืนทุน
4.สอบถามข้อมูลทั้งหมดกับบริษัทแฟรนไชส์ นอกจากการเปรียบเทียบข้อมูลด้วยตนเองแล้ว ผู้ลงทุนจำเป็นต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากบริษัทแฟรนไชส์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ รูปแบบธุรกิจ งบลงทุน ผลกำไร กฎระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินกิจการ วิธีการบริหารจัดการ การตลาด การดูแลแฟรนไชส์ซี เป็นต้น ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
- แฟรนไชส์ฟี (Franchise Fee) หมายถึง การเก็บค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนจ่ายก่อนเริ่มดำเนินงาน หรือเรียกว่าค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายค่าสิทธิต่างๆ ให้แก่บริษัท
- รอยัลตี้ฟี (Royalty Fee) หมายถึง เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจจะเรียกเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือต่อปี จากยอดขายหรือบางทีอาจจะเรียกเก็บจากยอดสั่งซื้อสินค้า
5.มองหาทำเล ประเมินความเป็นไปได้ (ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง) ทำเล ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อยอดขายโดยตรง ซึ่งการเลือกทำเล สิ่งแรกที่ควรตั้งเป้าหมายไว้ คือ แหล่งที่มีผู้ผ่านไปมาจำนวนมากๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าผู้คน ณ จุดนั้นเหมาะสมกับสินค้าหรือธุรกิจที่จะลงทุนหรือไม่ ในส่วนนี้ แฟรนไชส์ซีบางแบรนด์จะมีการจัดหาทำเลไว้ให้ หรือผู้ลงทุนอาจจะข้อคำแนะนำจากแฟรนส์ไชซี เพื่อช่วยประเมินความเป็นไปได้ของทำเลนั้นๆ (อย่าลืมว่าทำเลดีมักจะต้นทุนสูง ควรประเมินต้นทุน และรายได้ให้เหมาะสมด้วย)
6.รู้ไว้ (แฟรนไชส์ซี) เขาก็เลือกเราเช่นกัน นอกจากความพร้อมในเรื่องของเงินทุนที่แฟรนไชส์ซี จะพิจารณาแล้ว ความตั้งใจ และความใส่ใจในธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนั่นหมายถึง ชื่อเสียง หรือ แบรนด์ธุรกิจเดียวกัน หากเกิดข้อผิดพลาดไม่ว่าจะในจุดใดก็แล้วแต่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง มีผลต่อแฟรนไชส์สาขาอื่นเช่นกัน
7.ตัดสินใจได้แล้ว เริ่มดำเนินการ ในขั้นตอนนี้ถือได้ว่าผู้ลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว หลังจากผ่านการคัดเลือกหา ข้อมูล เปรียบเทียบและวิเคราะห์ อย่างละเอียด ขั้นตอนต่อไป คือ การเข้าศึกษาดูงานของ บริษัทแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่ การรู้ว่าบริษัทนั้นมีวิธีการดำเนินงานอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของเราย่อมเป็นผลดี ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ลงทุนควรศึกษาด้วยตนเอง
8.เตรียมความพร้อมในเรื่องของเงินทุน สำหรับผู้มีความพร้อมในเรื่องของเงินทุนอยู่แล้วคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพียงแค่รู้ว่างบลงทุน 2 ก้อนหลักที่จะต้องจัดเตรียมไว้ คือ 1.เงินลงทุนซื้อแฟรนไชส์ 2.เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ซึ่งควรเตรียมไว้ไม่น้อยกว่า 20% ของเงินลงทุน ทั้งนี้หากผู้ลงทุนประเมินแล้วว่ายังขาดเงินทุนอยู่ สามารถปรึกษาธนาคารพาณิชย์เพื่อขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือสินเชื่อแฟรนไชส์ หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งมี สินเชื่อแฟรนไชส์ โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีธุรกิจแฟรนไชส์หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม บริการ แฟชั่น เป็นต้น
9.เตรียมให้พร้อมก่อนเริ่มกิจการ มาถึงขั้นนี้ทุกอย่างคงดำเนินมากกว่า 90% แล้ว อีก 10% คือ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษาขั้นตอนการดำเนินธุรกิจอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อตัวผู้ลงทุนเอง และรวมถึงการดำเนินกิจการให้ได้มาตรฐานตามที่ แฟรนไชส์ซอร์กำหนดไว้ หรือหากเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องมีบุคลากร ควรนำบุคลากรเข้ามาอบรมขั้นตอนการดำเนินกิจการด้วย
10.หลังจากดำเนินกิจการ แน่นอนว่าทุกการทำธุรกิจจะต้องเจอกับปัญหา ถึงแม้จะเป็นสูตรสำเร็จ แต่ผู้ลงทุนควรรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จอย่างแท้จริง ฉะนั้น หากเกิดปัญหาติดขัดควรปรึกษากับแฟรนไชส์ซอร์ทันที ในจุดนี้แฟรนส์ไชซอร์จะมีการเตรียมความพร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ เพื่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน ที่สำคัญผู้ลงทุนต้องรู้ไว้ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เปรียบเทียบจากหลายๆ แหล่งข้อมูล จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ คลิก