นวัตกรรม สุดเจ๋งเปลี่ยนขยะพลาสติกและน้ำมันเครื่องที่ใช้งานแล้วให้กลายมาเป็นน้ำมันดีเซล


ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะประเภทพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านตันยังเป็นปัญหาที่ยากต่อการกำจัด เนื่องจากไม่สามารถใช้วิธีการฝังกลบเพราะสลายตัวช้ามาก หากนำไปเผาก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม งานนี้ต้องอาศัย นวัตกรรม เข้าช่วย

ขณะที่น้ำมันเครื่องที่ใช้งานแล้วจากยานยนต์ก็เป็นปัญหาเช่นกัน เห็นได้จากจำนวนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี และมีเพียงแค่ 20 – 30 เปอร์เซ็นที่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบกระบวนการไพโรไลซิสร่วมระหว่างน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับขยะพลาสติกผสม เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเทียบเท่าดีเซล

นวัตกรรม คือตัวแปรสำคัญ

เครื่องต้นแบบกระบวนการไพโรไลซิส สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกและน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุคุณภาพน้ำมันเทียบเท่าน้ำมันดีเซล โดยไม่ต้องอาศัยการกลั่น คุณสมบัติผ่านมาตรฐานตามที่กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ประกาศไว้ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นความสำเร็จที่ขยายผลการทดลองจากในระดับห้องปฏิบัติการ มาสู่ระดับโรงงานต้นแบบ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดปริมาณขยะและยังได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่คุณภาพเทียบเท่าน้ำมันดีเซลโดยไม่ต้องอาศัยการกลั่นเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างยื่นขอความความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

 ผศ.ณัฐชา เพ็ชร์ยิ้ม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เจ้าของผลงานเปิดเผยว่า ผลงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และบริษัท วิสดอม อินเวนเตอร์ จำกัด ซึ่งโดยทั่วไปกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันไพโรไลซิสจะมีคุณภาพต่ำ ไม่ผ่านมาตรฐาน จำเป็นต้องผ่านกระบวนการกลั่นอีกครั้งจึงจะได้น้ำมันดีเซลออกมา ซึ่งงานที่เราทำออกมานี้ได้คุณภาพโดยไม่ต้องทำการกลั่น

งานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายผลงานของ มทร.ธัญบุรี ตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในนโยบายของการพัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย สู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) สามารถนำไปขยายผลต่อการพัฒนาชุมชนสังคม และธุรกิจต่อไป