9 ยุทธวิธียกระดับความเชื่อมั่น…


ความมั่นใจ เมื่อต้องพูดต่อหน้าผู้คนมากมาย หากคุณไม่เตรียมพร้อมให้ดีอาจมีสะดุด หรือทำภารกิจล้มไม่เป็นท่า ความเชื่อมั่นในตนเองอย่างพอดี ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของคุณดูดีขึ้นเป็นกอง

 

หากคุณไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เรามี 9 ยุทธวิธีสร้างความเชื่อมั่น…มาฝากคุณ

 

  1. รู้ และเชื่อมั่นในสิ่งที่จะถ่ายทอด

รู้จัก เข้าใจในเรื่องที่จะพูด ถ้าไม่รู้ให้อ่าน ค้นคว้าเพิ่มเติม นอกจากรู้และเข้าใจแล้วทางที่ดีจะต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนจะกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่นเกิดจากประสบการณ์ของตนเอง หรือของบุคคลที่เราได้รับรู้มา ซึ่งจะเป็นตัวอย่างในการทำให้ผู้พูด และผู้ฟังเชื่อมั่นไปด้วยกัน

  1. รู้จักบทบาทตัวเอง

The Show Must Go On บอกตัวเองว่า วันนี้เรามาทำหน้าที่ตามบทบาทต่างๆ เช่น ครู วิทยากร พิธีกร ผู้ถ่ายทอด ฯ ซึ่งผู้ฟังก็ต้องยอมรับบทบาทของตนด้วย เมื่อเราคิดว่าเราเล่นบทบาทผู้พูด ย่อมต้องมีผู้ฟัง ฉะนั้น เมื่อก้าวขึ้นสู่เวทีเราจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะเราได้เตรียมเรื่องไว้อย่างดีกว่าหลายๆ คนที่ฟังอยู่ด้านหน้าเรา

  1. เชื่อมั่นในตนเอง

สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝน ฝึกหัดได้จากการแสดงออกทางบุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง และการแสดงออก คือ การบอกกับตัวเองว่า เราจะแสดงออกอย่างเชื่อมั่น โดยการพูดด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้ และมีประสบการณ์ พูดเต็มเสียง จริงจัง จูงใจ เหมาะสมในเวลาเดียวกัน เดินเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ยืนอกผายไล่ผึ่ง ไม่ใช่ยืนหลังค่อมห่อไหล่คอเอียง ฯลฯ

  1. เตรียมบันทึก หรือโน้ตย่อไว้

ผู้ถ่ายทอดที่ดีไม่ควรอ่านจากต้นฉบับในขณะที่พูด ทางที่ดีควรจะมีโน้ตย่อ หรือแผ่นใสบรรจุข้อความเป็นแนวคิดรวบยอดไว้แล้ว

  1. แต่งกายเหมาะสม

บุคลิกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่งกายดีจะมีความเชื่อมั่น ถ้าวันที่ต้องก้าวขึ้นสู่เวทีแล้วใส่ถุงน่อง ถุงเท้าขาด กระโปรงหรือกางเกงขาด สารพัดจะขาดแบบนี้ จะมีมาดนักพูดอยู่หรือ?

  1. ควรเตรียมเนื้อหาข้อมูลสำรองไว้

ถ้าคุณรู้ว่าเขาจะให้เราพูด 30 นาที ควรเตรียมเรื่องเผื่อไว้สัก 1 ชั่วโมง เพราะบางท่านสามารถพูดจบไปก่อนเวลา 30 นาที เพราะขาดการเตรียมเนื้อหาสำรองไว้

  1. บอกกับตัวเองว่า “ต้องสู้ถึงจะชนะ”

ก่อนขึ้นเวทีต้องบอกกับตัวเองว่า “ยังไงๆ วันนี้ฉันขอสู้ตาย” ไม่ใช่บอกกับตัวเองว่า “ขึ้นเวทีวันนี้สงสัยตายแน่ๆ” ถ้าคิดแบบนี้ก็ตายตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวทีแล้ว

  1. ก่อนเริ่มทำหน้าที่ควรเริ่มทำความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อน

ควรสำรวจพื้นที่ ทำความคุ้นเคยกับด้านหน้าเวที ไมโครโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเมื่อใกล้เวลา ก็ควรจะพูดคุยกับผู้ฟังก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรได้

9.พูดเสียง ชัดเจน

ถ้าหากพฤติกรรมเราพบว่า เวลาแสดงในการพูดกลัวเสียงสั่น เสียงแหบ เสียงหาย ให้ใช้วิธีพูดเสียงดังไปเลย แต่ไม่ใช่ตะโกน