บริหารความเสี่ยงด้าน นวัตกรรม อย่างมีประสิทธิภาพช่วยหนุนการเติบโตขององค์กร


PwC เผยองค์กรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ภายหลัง นวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีปฏิวัติสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะข้อปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงที่จะช่วยติดอาวุธให้กับผู้นำองค์กร ให้ได้รับคุณค่าจากการดำเนินงานด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง และสามารถจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้นเพื่อรองรับกับการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ยังมีความสามารถเหนือกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่า หรือ กลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม‘ (Non-adapters) ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับนวัตกรรม เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ (57% เทียบกับ 18% ของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม) และ คุณค่าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงนำมาสู่องค์กร (58% เปรียบเทียบกับ 18% ของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม)

ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ยังเป็นกลุ่มที่มีความมั่นใจในความสามารถของการบริหารกิจกรรมความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง มากกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่าถึง 2 ถึง 3 เท่า และเป็นกลุ่มที่คาดว่า รายได้ขององค์กรจะมีแนวโน้มเติบโต

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ยังได้สรุปความแตกต่างที่สำคัญ 5 ประการระหว่างกลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม และกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ดังนี้

1. การมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นและทั่วทั้งวงจรนวัตกรรม กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมมีแนวโน้มที่จะให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านนวัตกรรมก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการนำไปประยุกต์ใช้ มากกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมถึง 2 เท่า

2. ความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงด้านนวัตกรรมจากการดำเนินกิจกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลาย กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมมีความสามารถในการปฏิบัติการในด้านต่างๆ มากกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม โดยสามารถดำเนินการในด้านต่างๆ ได้ถึง 4 กิจกรรมหรือมากกว่านั้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การปรับกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร ไปจนถึง การถ่ายโอนความเสี่ยง

3. ความสามารถในการปรับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระดับความเบี่ยงเบนของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรม มีความสามารถในการปรับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ดีกว่ากลุ่มที่ด้อยกว่า ดูจากความสามารถในการบริหาร 8 กิจกรรมบริหารความเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนวัตกรรม ได้แก่ 1) การดำเนินธุรกรรมเชิงกลยุทธ์เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ 2) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ นอกเหนือจากบริการหลักเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ 3) การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพื่อกำหนดกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ 4) การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ หรือประสบการณ์ของลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ 5) การเข้าสู่ตลาดใหม่ 6) การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ 7) การเปลี่ยนรูปแบบในการกระจายสินค้า และ 8) การเปลี่ยนรูปแบบของพนักงานมากความสามารถ

4. ความสามารถในการใช้ทักษะ ความสามารถ และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรม 58% ของผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมรายงานว่า ตนมีการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยงด้วยการเพิ่มชุดทักษะเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมที่ 39%

5. การติดตามและประเมินผลประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบ โดย 51% ของผู้ที่ปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมใช้บุคคลภายนอกในการประเมินความสามารถในการบริหารความเสี่ยง ขณะที่มีเพียง 27% ของผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านนวัตกรรมที่มีการตรวจสอบประสิทธิภาพของตนในเรื่องนี้

ทั้งนี้ PwC ชี้ว่า สิ่งที่องค์กรต้องทำความเข้าใจคือ การบริหารความเสี่ยงและนวัตกรรมถือเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยในขณะที่องค์กรนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ แต่การตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติการที่จำเป็น ในการรับมือกับความเสี่ยงทั้งที่รู้จักและไม่คาดคิดมาก่อน จะช่วยให้ผู้บริหารความเสี่ยงประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเฉกเช่นทุกวันนี้ นอกจากนี้ ผู้บริหารความเสี่ยงต้องแสดงความมีส่วนร่วมตลอดทั้งวงจรชีวิตของการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้สามารถระบุถึงปัญหา ประเมิน และบริหารความเสี่ยงด้านนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ