ระวัง! อยู่คอนโดบ้านจัดสรร ค้างค่าส่วนกลาง 1 ปี ถูกส่งศาลยึดทรัพย์


กฎหมายชี้ชัด อยู่คอนโดบ้านจัดสรร ค้างส่วนกลางนาน 6 เดือน ถูกอายัดโฉนด หากยื้อนาน 1 ปี ถูกส่งศาลยึดทรัพย์

นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์ นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร เผยว่า ปัญหาลูกบ้านไม่จ่ายค่าส่วนกลาง โดยเฉลี่ยมีประมาณ 10% ของลูกบ้าน ซึ่งหากถูกฟ้องก็จะแพ้คดี เนื่องจากมี พ.ร.บ. การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2558 ที่ระบุบทลงโทษของลูกบ้านที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง คือ การบริหารสาธารณูปโภคที่ถือเป็นทรัพย์สินในหมู่บ้านที่ได้รับโอนจากผู้ขายหรือเจ้าของโครงการ เป็นความรับผิดชอบของ “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ตัวแทนเป็นกรรมการบริหาร มีข้อบังคับหมวด 1 ใน 10 หมวด คือ การพิจารณาค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เพื่อคำนวณค่าบริการที่แต่ละบ้านต้องจ่าย โดยคำนวณจากขนาดของพื้นที่ ทุกหลังอยู่ในข้อบังคับต้องจ่ายทั้งที่มีคนอยู่ และไม่มีคนอยู่ แม้แต่ที่ดินเปล่าที่เจ้าของโครงการยังขายไม่ออก ก็ต้องจ่ายค่าส่วนกลาง กรณีที่ลูกบ้านไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง มีขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมายภายใน 12 เดือน ดังนี้

  1. ค้าง หรือ ผิดนัดจ่าย เช่น กำหนดจ่ายวันที่ 7 ไปจ่ายวันที่ 15 ก็เท่ากับผิดนัดชำระหนี้ ต้องมีค่าปรับ ที่เป็นข้อกำหนดจากการประชุมของนิติบุคคลหมู่บ้าน
  2. ค้างเกิน 3 เดือน ลูกบ้านรายนั้นจะถูกระงับสิทธิให้บริการสาธารณะ โดยก่อนถูกระงับสิทธิ นิติบุคคลต้องทำหนังสือเตือน และถ้าไม่ชำระอีก ก็ระงับบริการ เช่น ไม้กั้นทางเข้าออกจะถูกบล็อก หรืองดเก็บขยะให้
  3. อีก 3 เดือนต่อมา ถ้ายังไม่จ่าย นิติบุคคลหมู่บ้านจะมีหนังสือเตือนแจ้งอายัดโฉนดที่ดิน โดยคณะกรรมการนิติบุคคลจะไปที่สำนักงานที่ดิน เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรับอายัด ที่ดินแปลงนั้นก็จะขายไม่ได้
  4. เจ้าพนักงานที่ดินจะแจ้งเจ้าของที่ดิน หากต้องการปลดล็อกจากการถูกอายัด ก็ต้องจ่ายหนี้ค่าส่วนกลางที่ค้างก่อน
  5. ผ่านไปอีก 6 เดือน หรือเท่ากับ 1 ปีแล้ว คณะกรรมการนิติบุคคลสามารถดำเนินการฟ้องศาลแพ่ง
  6. ศาลนัดไกล่เกลี่ย ส่วนใหญ่มักจะลงตัวตามที่ศาลช่วยไกล่เกลี่ย และมีการผ่อนชำระ
  7. กรณีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ หากศาลพิพากษาให้จ่าย แต่ยังไม่จ่าย ก็จะนำไปสู่กระบวนการบังคับคดี ตั้งแต่ ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด และเมื่อได้เงินมา หนี้ส่วนกลางก็จะถูกจัดสรรให้เจ้าหนี้หรือนิติบุคคล

ส่วนสาเหตุที่ลูกบ้านไม่จ่ายค่าส่วนกลางก็ได้แก่

  • ไม่ได้อยู่ กำลังปล่อยเช่าแต่ไม่มีคนเช่า จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้านต่างๆจากส่วนกลาง
  • รอขาย
  • ไม่พอใจบริการที่นิติบุคคลจัดสรร
  • ปัญหาพิพาทระหว่างบ้านติดกัน ซึ่งนิติบุคคลแก้ปัญหาได้ไม่ถูกใจ จึงไม่อยากจ่าย
  • กำลังถูกสถาบันการเงินฟ้องยึด

ซึ่งหลายแห่งพยายามหลีกเลี่ยงไม่ฟ้องคดี เพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เมื่อไม่เข้าใจก็ต้องเกิดการฟ้องร้องกันในที่สุด