แพทย์เตือนคนทำงานเป็นกะ เสี่ยง “โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน”


รู้หรือไม่ว่า การทำงานเป็นกะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นหลายโรคอันตราย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือกหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายอาชีพ เช่น ตำรวจ บุคคลทางการแพทย์ หรืออื่นๆ ที่ต้องทำงานเป็นกะแตกต่างจากอาชีพโดยทั่วไป ที่ทำงานเวลาปกติระหว่าง 07.00-18.00 น. ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการทำงานของร่างกายมนุษย์ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การผลิตฮอร์โมน การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การทำงานของกระเพาะอาหารเป็นแบบ 24 ชั่วโมง โดยวงรอบการทำงานต่างๆ จะประสานสอดคล้องกัน โดยมีสมอง ปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวควบคุม

ดังนั้นเมื่อต้องทำงานเป็นกะ ร่างกายจะมีการปรับวงจรการนอนให้สอดคล้องกับกะที่ทำงาน แต่วงจรอื่นๆ จะต้องใช้เวลาในการปรับ ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ผลกระทบที่ตามมาคือ นอนไม่เพียงพอ ทำให้อ่อนล้า สูญเสียสมาธิ และการตัดสินใจช้าลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของความผิดพลาด และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพของการทำงานกะดึกมี 2 ระยะด้วยกัน คือระยะสั้น จะมีผลกระทบคือนอนไม่เพียงพอ, นอนหลับไม่สนิท และผลที่ตามมาคือเครียด มีอาการอ่อนล้า ประสิทธิภาพการตัดสินใจลดลง

ส่วนผลระยะยาวจะมีอาการเครียดเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถึงร้อยละ 40 โรคกระเพาะอาหารมากกว่า 2.5 เท่าของคนปกติ โรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิงถึงร้อยละ 30 โรคระบบทางเดินอาหาร โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคจิตประสาท กังวล ซึมเศร้า ปัญหาครอบครัวและสังคม สำหรับในผู้หญิงอาจมีผลต่อระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้ง่าย

ข้อมูลจาก hfocus