มหาวิทยาลัย หากไม่ปรับตัวรับรอง “เจ๊งแน่”


เรื่องราวการปิดตัวของบรรดา มหาวิทยาลัย ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น ตัวเลขอยู่ที่ 500 แห่ง จากทั้งหมด 4,500 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น่าตกใจไม่น้อย เพราะมากถึง 1 ใน 9 ของจำนวนมหาวิทยาลัยในอเมริกาเลยทีเดียว ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน อาจารย์และนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

ได้เขียนบทความลงในหนังสือ The Innovative University เล่มล่าสุดของเขาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะมีมหาวิทยาลัยในอเมริกาปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ และจำนวนนักเรียนไฮสคูลที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง ไม่เพียงแต่ศาสตราจารย์คริสเตนเซนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาและสถาบันจัดอันดับมูดีส์ก็ประเมินเช่นกันว่า จะมีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยขนาดเล็กปิดตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว การปิดตัวของมหาวิทยาลัยในสหรัฐเอเมริกา เป็นตัวเลขที่น่ากลัว ทั้งที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกามีคุณภาพกว่าประเทศไทยมาก เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะประสบปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากการศึกษาออนไลน์ได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่า เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน

อีกทั้งค่าเรียนยังถูกสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ในขณะที่การเรียนการสอนในระบบเดิมต้องลงทุนมหาศาล สิ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากการรุกของหลักสูตรออนไลน์แล้ว จำนวนเด็กที่เข้าสู่ มหาวิทยาลัย ที่อเมริกากำลังเผชิญ เป็นวิกฤติที่การศึกษาของไทยกำลังเผชิญเช่นเดียวกัน ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 1.1 ล้านคน/ปี ตอนนี้ลดลงเหลือ 7 แสนคน/ปี เด็กมัธยมที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงแน่นอน นอกจากนี้ ในอเมริกายังพบว่า เด็กปี 1 ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ 18 – 22 ปี ตามปกติ

เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบไฮสคูลจะออกไปทำงาน ออกเดินทางไปค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนรู้จาก Google เมื่อรู้ว่าอยากเรียนหรืออยากทำอาชีพอะไร ถึงจะตัดสินใจเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องเรียน 4 ปีเต็ม เพราะครึ่งหนึ่งเขาได้จากการทำงานมาแล้ว

ดังนั้นมหาวิทยาลัยยุคใหม่จะต้องสอนโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก มีการบูรณาการการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน หรือฝึกปฏิบัติวิชาชีพจริง หรือให้ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดทักษะประสบการณ์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอนร่วมกัน รวมไปถึงการประเมินผล เพื่อให้เด็กที่จบไปมีทักษะในการเป็น entrepreneur ในสถานประกอบการ และสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้

หากมหาวิทยาลัยไม่มีการปรับตัว แล้วเปลี่ยนหลักสูตรกันขนานใหญ่ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะเจอกับวิกฤตเรื่องจำนวนนักศึกษาที่น้อยลงอย่างแน่นอน ส่วนในบ้านเราค่านิยมเรื่องของการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐก็ค่อยๆ ลดความนิยมลงไปมากแล้ว เชื่อว่าพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาของไทยก็จะเปลี่ยนไปในทางเดียวกันกับของสหรัฐอเมริกา