SHEIN ฟาสต์แฟชั่นเสื้อผ้ายอดขายหมื่นล้าน แต่ครั้งหนึ่งธุรกิจเกือบถูกแบนเพราะเรื่องนี้
ธุรกิจจีนที่ถูกขนานนามว่า “มังกรสี่ตัวแห่งอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน” อย่าง SHEIN กับ TEMU จะออกมาฟาดฟัน เล่นงานกันเอง แม้จะเป็นบริษัทที่มาจากประเทศเดียวกันก็ตาม
กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อ SHEIN แพลตฟอร์มขายเสื้อผ้าออนไลน์ยื่นฟ้อง TEMU แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่อศาลรัฐบาลกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์แบบจงใจผ่านการตลาดที่ผิดกฎหมาย ขโมยความลับทางการค้า และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การใช้เครื่องหมายทางการค้าของ SHEIN มาดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการของ TEMU, พนักงาน TEMU ล้วงข้อมูลสำคัญอย่างรายละเอียดสินค้าไป, การออกแบบเสื้อผ้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
แพลตฟอร์ม SHEIN
สำหรับ SHEIN และ TEMU ล้วนมีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน โดยเน้นขายสินค้าราคาถูกจึงได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว ช่วงหลังเราได้ยินชื่อของ TEMU มาเยอะแล้ว แต่ SHEIN ก็ถือว่ามีเส้นทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และครั้งหนึ่งแบรนด์เคยถูกบอยคอตกับเรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมมาแล้ว
SHEIN ถูกยกให้เป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำของโลก สัญชาติจีน ก่อตั้งในปี 2008 โดย Chris Xu ที่ค้นพบคีย์เวิร์ดสำคัญในโลกธุรกิจ คือ “สินค้าจีนเป็นที่ต้องการทั่วโลกสูง” จึงตัดสินใจสร้างร้านค้าปลีกออนไลน์ขึ้นมา ขายเสื้อผ้าแฟชั่นในราคาไม่แพง จากเดิมที่ขายแค่ชุดแต่งงาน ก็ต่อยอดมาเป็นเสื้อผ้าสตรี และแบรนด์ SHEIN ก็ให้ความหมายโดยชื่ออยู่แล้วว่าทำออกมามีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
กลยุทธ์ที่สำคัญของ SHEIN ที่ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการเน้นการนำเสนอสินค้าอย่างรวดเร็ว ตามข้อมูลจาก Zhongjin Research เผยว่า SHEIN ใช้เวลาออกแบบ และเปิดตัวสินค้าคอลเลกชันใหม่ด้วยการใช้เวลาเพียง 7-15 วันเท่านั้น หากคิดระยะ 1 ปี แบรนด์ออกสินค้าใหม่มากกว่า 1 ล้านรายการ มากกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอย่าง Zara และ H&M แน่นอนว่าทำให้ลูกค้าตื่นตัวกับสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ร้าน SHEIN
ปัจจัยที่ทำให้ SHEIN ทำแบบนี้ได้มาจากการใช้วิธีการแบบใหม่ คือการสั่งซื้อเสื้อขั้นต่ำจากโรงงาน 100-200 ชิ้น พร้อมทั้งติดตามว่าเสื้อตัวนั้นได้รับความนิยมจากลูกค้าหรือไม่ ก่อนตัดสินใจจะผลิตขั้นสุดท้าย กลยุทธ์นำมาสู่การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด รวมถึงขายในราคาถูกได้ เลยได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นด้วยการออกแบบที่ดูแล้วทันสมัย
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบให้กับแบรนด์ หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีผลสำรวจออกมาว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับ 2 แน่นอนว่าแบรนด์ที่อยู่ในนี้ก็หนีไม่พ้นการถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับ SHEIN ที่แม้บริษัทพวกเขาใช้เทคโนโลยีที่ลดพลังงาน มีการใช้วัสดุหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ใช้วัสดุอย่างเส้นใยโพลีเอสเทอร์รีไซเคิลจะวางขายในราคาเท่านี้ และเสื้อผ้าของแบรนด์ยังใช้พลาสติกบรรจุ เลยดูแล้วไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่
สินค้าแบรนด์ SHEIN
ไม่เพียงเท่านั้น SHEIN มีข่าวหลุดออกมาว่าแบรนด์มีการใช้แรงงานเด็กแบบไม่สมัครใจ นอกจากนี้ แรงงานยังต้องทำงานถึงวันละ 15 ชั่วโมง และต้องจัดส่งออเดอร์แบบเร่งด่วน เหล่านี้นำมาสู่กระแสการแบน SHEIN :ซึ่งก็ต้องพิสูจน์ความจริงกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร
ปัจจุบัน SHEIN เป็นผู้ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์และไลฟ์สไตล์ระดับโลก โดยไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าแฟชั่น-เครื่องประดับของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังพัฒนามีสินค้าสำหรับผู้ชาย เพื่อเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2023 SHEIN มีรายได้อยู่ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.8 แสนล้านบาท) เปิดสาขาให้บริการมากกว่า 150 ประเทศ
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู, SHEIN, CNBC
เรื่องที่เกี่ยวข้อง