Temu อีคอมเมิร์ซจีน ผู้กล้าท้าชน Amazon บุกไทย ชูจุดแข็งขายสินค้าราคาถูกสุดๆ
ตอนนี้เมืองไทยจะเป็นกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจจากประเทศจีนที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาเข้ามาให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม และล่าสุดเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย
เรากำลังพูดถึง “Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนในเครือของ PDD Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ pinduoduo ยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ที่ปัจจุบันธุรกิจของพวกเขาได้เข้ามาบุกเมืองไทย
เมื่อดูประวัติของ “Temu” แล้วพบว่าเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน โดยเริ่มต้นในปี 2022 ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการบุกตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกให้ได้ผ่านการสร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครจนทำให้ธุรกิจเติบโตไปอย่างรวดเร็ว เปิดให้บริการแล้ว 50 ประเทศทั่วโลก
แต่กิตติศัพท์อันร่ำลือของ “Temu” คือการบุกตลาดสหรัฐฯ แบบไม่เกรงกลัวเจ้าถิ่นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนานอย่าง Amazon ด้วยการชูจุดเด่นขายสินค้าทุกชนิด ที่สำคัญราคาถูกมาก ๆ รวมถึงนโยบายการรับคือนสินค้าอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ทำให้ถูกใจสายช็อปชาวสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ดูได้จากตัวเลขสถิติยอดผู้ใช้งานทั้งระบบ App Store และ Google Play ในสหรัฐฯ ที่ครองอันดับ 1 ในส่วนของยอดดาวน์โหลด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านบัญชี
Temu ใช้โมเดลธุรกิจแบบไหน
โมเดลธุรกิจมีส่วนสำคัญไม่ใช่น้อย โดย Temu เป็นมาร์เก็ตเพลสที่เชื่อมโยงผู้บริโภค ผู้ขาย ผู้ผลิต และแบรนด์หลายพันรายทั่วโลก ซึ่ง Temu สร้างรายได้ด้วยการตัดเปอร์เซ็นต์จากการซื้อผ่านแพลตฟอร์ม แน่นอนว่าอย่างที่บอกไปแพลตฟอร์มนี้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการเสนอขายสินค้าราคาต่ำมาก มีส่วนลดสูงถึง 99% และสินค้าหลายรายการลดราคามากกว่าครึ่ง
ทำไม Temu ถึงทำแบบนี้ได้ เพราะว่าลูกค้าสามารถซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน และใช้เวลาจัดส่ง 7-14 วัน รวมถึงการให้ข้อเสนอที่น่าสนใจคือค่าขนส่ง และการคืนสินค้าฟรีใน 90 วันแรกที่ทำการสั่งซื้อ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่การขนส่งสินค้าติดขัด
สำหรับสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์ม ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าในเกือบทุกหมวดหมู่ตามที่ใจอยาก ตั้งแต่สินค้าแฟชั่นไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ต้องเข้าใจว่าสินค้าที่ขายบน Temu ไม่มีแบรนด์ จึงทำให้แนวโน้มว่าสินค้าชิ้นนี้เป็นได้ทั้งของปลอม และของแท้
ด้านกระบวนการการดำเนินงานสามารถอธิบายถึงกลยุทธ์ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า Temu จะเป็นตัวกลางของตลาดออนไลน์ที่จับคู่ผู้ขายกับผู้ซื้อ ในสถานการณ์นี้ Temu คือแพลตฟอร์มที่ถูกจัดเตรียมเป็นกรรมสิทธิ์ให้ทั้งสองฝ่ายทำธุรกรรมร่วมกันได้ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงิน, การได้มา และตรวจสอบความถูกต้องของร้าน, แนะนำสินค้า, ให้ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากมองคู่แข่งในตลาด แพลตฟอร์มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้น Shopee และ Lazada ที่เป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับขายสินค้าลักษณะเดียวกัน รวมถึงผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องเผชิญการตัดราคาที่ขายถูกกว่า จึงมีความน่าเป็นห่วงไม่น้อยในช่วงเวลาแบบนี้ที่ผู้คนต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยรายงานของ “Ecommerce in Southeast Asia 2024” พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2566 มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยแพลตฟอร์มที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุด อันดับ 1 คือ Shopee สัดส่วน 49% รองลงมา คือ Lazada สัดส่วน 30% และ TikTok Shop สัดส่วน 21%
บางทีการมาจอง Temu อาจเป็นสงครามอีคอมเมิร์ซที่ส่งสัญญาณการต่อสู้อันดุเดือดในสมรภูมิแห่งนี้ก็เป็นได้
ที่มา: productmint, temu