Sustainable Sourcing

แนวทางสู่ Sustainable Sourcing ในธุรกิจเนื้อสัตว์แปรรูป-อาหารทะเลแปรรูป-ขนมหวาน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing) ในแต่ละกลุ่มสินค้าสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามหลักการสำคัญหลายประการซึ่งมีความเหมือนและแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มสินค้า โดยอาจมุ่งเน้นไปในด้านการจัดการทรัพยากรแบบหมุนเวียน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการบุกรุกพื้นที่ป่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และสวัสดิภาพแรงงาน

โดยในแต่ละสินค้าที่ควรปรับตัวก่อนมีรายละเอียดดังนี้

 

ผู้ประกอบการกลุ่มเนื้อไก่แปรรูป

ผู้ประกอบการกลุ่มเนื้อไก่แปรรูปควรปรับตัวทั้งในด้านมิติการลด Emission ด้านสวัสดิภาพแรงงานและลดการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลืองที่มาจากการบุกรุกป่า โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการตัวอย่างการเลี้ยงไก่ เพื่อมุ่งสู่แนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เนื่องจากในกระบวนการเลี้ยงไก่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับกระบวนการอื่นๆในซัพพลายเชนการผลิตเนื้อไก่แปรรูป โดยผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน และการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและการประเมินและรายงานคาร์บอนฟุตพรินท์ ซึ่งการปรับตัวเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเนื้อไก่แปรรูปในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น

 

ตัวอย่างของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มสินค้าเนื้อไก่แปรรูปที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ในการลด Carbon Footprint ได้คือ กลุ่มบริษัท ซันกรุ๊ป และ สุรชัยฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่แปรรูปและฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศไทย โดย บริษัทซันกรุ๊ป ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงไก่สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพให้กับ สุรชัยฟาร์ม ทำให้มีการดำเนินการโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของฟาร์ม คือ การติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า และลดการใช้พลังงาน จากแหล่งที่ไม่ยั่งยืนของฟาร์ม

 

ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป

ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูปควรร่วมมือกับผู้ประกอบการต้นน้ำอย่าง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อมุ่งสู่แนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และลดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งในกระบวนการเพาะเลี้ยงมีการใช้พลังงานค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการปล่อย Emission ค่อนข้างมาก โดยผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงกระบวนการใช้พลังงานให้มีการปล่อย Emission ลดลงได้โดยการประยุกต์ใช้ แหล่งที่มาของพลังงานจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มสินค้าประมงถูกมองว่ามีปัญหาด้านแรงงานผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในปี 2567 (TIP Report 2024) พบว่าสถานะของไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่ง ยังต่ำกว่าระดับมาตรฐานขั้นต่ำทั่วไปที่ Tier 1 โดยผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูปและผู้ประกอบการต้นน้าควรร่วมมือในการใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าอาหารทะเลแปรรูปของไทย ซึ่งการปรับตัวนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป

 

ตัวอย่างของผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลที่ร่วมมือกับบริษัทค้าปลีกในการลด Carbon Footprint คือ กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน และ The Nature Conservancy (TNC) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกระดับโลก โดยมีการร่วมมือกันในการพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีเป้าหมายการผลิตกุ้งคุณภาพสูงกว่า 1,000 ตันต่อปี ด้วยกระบวนการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยโครงการนี้มุ่งเน้นลงทุนในฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดการใช้พลังงานและใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ไทยยูเนี่ยนวางแผนขยายไปยังฟาร์มกุ้งอื่น ๆ ในประเทศไทยและพื้นที่อื่น เพื่อส่งต่อ หลักปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

 

ผู้ประกอบการกลุ่มขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด

ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด ควรปรับตัวในมิติด้านการลด Emission ในกระบวนการผลิตของวัตถุดิบ เช่น น้ำตาล และอาจพิจารณาถึงการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายในกระบวนการผลิต โดยอาจทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการต้นน้ำอย่าง โรงงานน้ำตาล เพื่อมุ่งสู่แนวทางที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งในกระบวนการผลิตน้ำตาล มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีการเผา โดยผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงกระบวนการเก็บเกี่ยวได้โดยการใช้รถเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อลดมลพิษจากการเผาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ก็ควรใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การใช้หม้อไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้ระบบการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต ส่งผลให้วัตถุดิบน้ำตาลสามารถยกระดับไปสู่การผลิตน้ำตาล ที่ยั่งยืนได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

 

ตัวอย่างของผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาดที่ทำข้อตกลงกับโรงงานน้ำตาลในการลด Carbon Footprint คือ Ferrero ผู้ผลิตขนมชื่อดังที่ได้เลือกใช้น้ำตาลในกระบวนการผลิตขนมจากโรงงานน้ำตาลที่ผ่านมาตรฐาน Bonsucro เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมทั้งในมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สวัสดิการแรงงานแรงงาน ซึ่งช่วยให้บริษัทฯบรรลุเป้าหมายด้าน Sustainable Sourcing แล้ว 100% โดย Ferrero ได้เข้าร่วมมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่มุ่งเน้น การปรับปรุงการผลิตน้ำตาลอ้อยให้มีความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตั้งแต่ปี 2010 และได้รับรางวัล Bonsucro Leadership Award ในปี 2014

 

ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด ควรยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อเตรียมรับมือกับมาตรฐานด้าน Sustainable Sourcing และเทรนด์ผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน แม้ว่าผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด อาจยังไม่มีมาตรการด้าน Sustainable Sourcing ชัดเจนมากนัก แต่เทรนด์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวัตถุดิบมาจากแหล่งที่ได้รับมาตรฐาน Bonsucro ก็จะทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยการปรึกษาผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการด้าน Traceability ในไทย ค่อนข้างหลากหลาย เช่น Food Innopolis ที่เป็นผู้พัฒนาระบบ QR Code ในการตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

 

 

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยที่ต้องการประสบความสำเร็จในการมุ่งสู่ Sustainable Sourcing ทั้งสิ้น 4 เรื่อง คือ 1. ควรตั้งเป้าหมาย Sustainable Sourcing อย่างเต็มรูปแบบ 2. สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในกิจกรรมจากการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร 3. สนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างทั่วถึง และ 4. สร้าง Incentive เช่น การให้ราคาพรีเมียมสำหรับวัตถุดิบที่ผลิตอย่างยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง