รู้จัก “CBAM” กุญแจ Net Zero ทั้ง 5 ข้อ สู่ประตูยุโรป
October 26, 2024 October 28, 2024
CBAM ย่อมาจาก Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ‘ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน‘ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้
ซึ่งก่อนที่สหภาพยุโรปบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2569 CBAM เริ่มนำร่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) จากสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงกับผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ซีเมนต์ 2. ไฟฟ้า 3. ปุ๋ย 4. เหล็กและเหล็กกล้า 5. ไฮโดรเจน และ 6. อะลูมิเนียม ไปยังสหภาพยุโรปจะต้องรายงานปริมาณการนำเข้ารวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า รวมถึงอาจจะต้องซื้อ CBAMCertificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น โดย EU ได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้
ช่วงที่ 1: ปี พ.ศ. 2566-2568 ( ค.ศ. 2023-2035) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional period ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน
ช่วงที่ 2: ปี พ.ศ. 2569-2577 ( ค.ศ. 2026-2034) เป็นช่วงบังคับใช้ หรือ definitive period ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า และต้องซื้อ CBAMcertificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มประเภทสินค้านั้น ๆ ซึ่งในระยะนี้ EU จะทยอยลดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances)
ช่วงที่ 3: ปี พ.ศ. 2578 ( ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป เป็นช่วงที่ EU บังคับใช้มาตรการ อย่างเต็มรูปแบบ หรือ full implementation โดย EU จะยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้นแล้วเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2569 ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย
ตัวอย่างการนำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนของแต่ละอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เช่น ‘ภาครัฐ’ ใช้วางนโยบายและกฎเกณฑ์สีเขียวสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ‘ภาคเอกชน’ ใช้วางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา’ ใช้พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ
หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านมาตรการ CBAM ได้อย่างยั่งยืน คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายไว้เช่นกันว่า ‘ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) หรือก่อนหน้า‘
แนวทางสู่ Net Zero ประกอบไปด้วย
จัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
พัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานหรือบริษัท
ปรับโครงสร้างพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
บริหารกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (circular design)
เพิ่มสัดส่วนการหมุนเวียนวัสดุ
ใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ (nature based solution)
การนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย ทั้งนี้แต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนากลไกสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้
สำหรับ มาตรการ 1 ใน 6 ที่สหภาพยุโรปได้ออก แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยกฎหมายและกฎระเบียบอีก 5 ข้อ ประกอบด้วย
Renewable Energy หรือกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพื่อปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น 40 % ของพลังงานทั้งหมดในปี 2030 (ปัจจุบัน 20%) และมาตรการปรับลดอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยปรับเพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานประเภทอื่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
Sustainable / Smart Mobility หรือกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะและยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานยานพาหนะที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก EU โดยอนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี 2035 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์การชาร์จพลังงานสำหรับรถไฟฟ้า และรถไฮโดรเจน จากประเทศไทย รวมถึงธุรกิจระบบเครื่องยนต์ดีเซล-เบนซิน และ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน และการเดินเรือ โดยจะเริ่มในปี 2026
Forestry / Biodiversity หรือกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ มีสาระสำคัญ คือ มาตรการการปกป้องป่าที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การไม่ใช้พลังงาน Biofuel เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า หรือสร้างผลลัพธ์ทำให้ขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น รวมถึงการไม่ซื้อสินค้าทุกประเภทที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า เช่น กาแฟ
Taxonomy หรือกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว คือการกำหนดนิยามกิจกรรมของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิก EU มากขึ้น เช่น การระดมทุนใน Green Bond หรือได้สิทธิพิเศษทางสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan
Due Diligence หรือกฎระเบียบความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ คือการกำหนดกรอบการทำธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล Sustainable Corporate Governance ธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบและดูแลสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากกฎระเบียบข้อนี้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเพียงแค่แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง