ไทยต้องจับตา กัมพูชาขยายตลาดสินค้าเกษตรพุ่ง 39% ทะลุ 4.8 พันล้านดอลลาร์

ในปี 2567 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชารายงานว่า ประเทศสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญไปยังตลาดต่างประเทศประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนประมาณ 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในปี 2567 อยู่ที่ 11.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39% จาก 8.4 ล้านตันในปี 2566 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก ข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กล้วย มะม่วง ลำไย พริกไทย และสินค้าเกษตรอื่น ๆ โดยมีการส่งออกไปยัง 94 ประเทศทั่วโลก

รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศใช้นโยบายยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อพัฒนาภาคเกษตร โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงการเกษตรเชิงพาณิชย์ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร (Value-Added Products) เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ที่ดินทำกิน ระบบชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ไฟฟ้าสำหรับขนส่งสินค้าและการผลิต ตลอดจนการพัฒนาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่าภาคเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชา รองจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยมีสัดส่วน 22% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตเชิงบวกของภาคเกษตรกรรมอย่างชัดเจน

การขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชาได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลีใต้ (CKFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมระหว่างกัมพูชาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CAM-UAE CEPA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งช่วยเปิดตลาดใหม่และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นโยบายยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคเกษตร การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลกัมพูชา มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและกระตุ้นการเติบโตของภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเกษตรของกัมพูชายังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาคุณภาพ การเพาะปลูกและการแปรรูปสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนไทย ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในภาคส่วนนี้

นอกจากนี้ การขาดแคลนโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นและความจำเป็นในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายของรัฐบาลกัมพูชา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร อาจพิจารณาเข้ามาลงทุนโดยใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิต เนื่องจากกัมพูชามีชายแดนติดกับไทย แรงงานราคาถูก และวัตถุดิบที่เพียงพอและราคาไม่แพง

การลงทุนในกัมพูชาในด้านโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรยังเป็นที่ต้องการมาก เนื่องจากกัมพูชาเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรแปรรูป

ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ณ ท่าเรือสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Autonomous Port) และท่าเรือกรุงพนมเปญ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางน้ำของกัมพูชา และส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งทางบกและทางน้ำภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรพิจารณาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพ การเพาะปลูก และการแปรรูปสินค้าเกษตรของกัมพูชา เพื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนอย่างรอบคอบ