ก่อนหน้านี้ แอปพลิเคชัน “Robinhood” ภายใต้การบริหารของ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ที่ต้องโบกมือลา โดยจะหยุดให้บริการมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม SCB ได้มีการเลื่อนปิดแอป “Robinhood” ออกไป หลังมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าซื้อกิจการ
สุดท้าย การเจรจาได้บทสรุปเป็นที่เรียบร้อย โดยเป็น “กลุ่มยิบอินซอย” ที่เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมสูงสุด 2,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้แอปพลิเคชันส่งอาการอย่าง “Robinhood” สามารถเดินหน้าต่อได้
มาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า “กลุ่มยิบอินซอย” เป็นใคร มาจากไหน ทำธุรกิจอะไร Smartsme จะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ “ยิบอินซอย” เกิดขึ้นจากชายคนที่ชื่อ Yip In Tsoi เด็กหนุ่มไฟแรงที่มีความทะเยอทะยาน และความกระตือรือร้น โดยหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยจากประเทศจีน ก็ได้ทำงานด้านการเงินที่ฮ่องกงเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะกลับมาช่วยครอบครัวทำธุรกิจด้านการค้า และเป็นโอกาสที่ให้ได้เดินทางมายังภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งในปี 1926 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่และแร่ธาตุมีแนวโน้มที่ดี จึงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ “ยิปอินซอย แอนด์ โค” ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นมา
ต่อมาในปี 1930 ได้ก่อตั้งบริษัท ยิบอินซอย จำกัด พร้อมทั้งย้ายสำนักงานมาอยู่ที่เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพ โดยบริษัทมีการขยายธุรกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากเหมืองแร่ ดีบุก ไม่ว่าจะเป็น การนำเข้าสินค้าคุณภาพระดับโลก เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม, ปิโตรเลียมเคมี, ตะเกียงเชื้อเพลิง Coleman, กระดาษ Stabilo, ผลิตภัณฑ์ 3M, กล้อง Rolleiflex
อีกทั้ง ยังมีธุรกิจประกันภัยและประกันภัยทางทะเล, การนำเข้าปุ๋ยคุณภาพสูงจากประเทศเยอรมนี ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Baimai”, ร่วมมือกับ Sissons Brothers Paint ผู้ผลิตสีทาบ้านระดับสูงจากสหราชอาณาจักร
ในปี 1954 ยิบอินซอย เข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยี เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย “Burroughs Adding Machines” เครื่องคอมพิวเตอร์ และต่อยอดมาสู่บริการโซลูชันที่เข้าช่วยแก้ปัญหา โดยจัดตั้งบริษัท มรกต ยิบอินซอย จำกัดที่มุ่งเน้นไปธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง คลาวด์, ดาต้า, โครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย
ผลประกอบการย้อนหลัง บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
-ปี 2564 รายได้รวม 5,012 ล้านบาท กำไร 166 ล้านบาท
-ปี 2565 รายได้รวม 5,107 ล้านบาท กำไร 12 ล้านบาท
-ปี 2566 รายได้รวม 5,964 ล้านบาท กำไร 129 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า “ยิบอินซอย” ทำธุรกิจมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปี โดยมีการปรับตัว มองหาโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจอยู่เสมอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจแบบเดิมอย่างที่เคยทำมาตลอดไป โดยการเข้าซื้อกิจการของ Robinhood ในครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของการดำเนินธุรกิจ เป็นการต่อยอดแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่จะเคยทำมาก่อน ซึ่งมีผู้ใช้งานเป็นฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว เรียกได้ว่าพร้อมเสิร์ฟ พร้อมให้บริการลูกค้า เพียงแค่พัฒนา ทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ และยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำแอปฯ Robinhood ที่อยากช่วยผู้ประกอบการไทย ทำให้คนไทยมีงาน มีรายได้จากน้ำพักน้ำแรง
แอปพลิเคชัน “Robinhood” กับภายใต้การบริหารของกลุ่มยิบอินซอย
แต่อีกหนึ่งที่เป็นความท้าทายของ “ยิบอินซอย” กับการเข้ามาสานต่อแอปฯ Robinhood คือตลอดระยะเวลา 4 ปี พบว่าขาดทุนมาตลอด รวมหลายพันล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการ “เผาเงิน” เพื่อให้ได้ข้อมูล จำนวนลูกค้า และค่อยมาทำกำไรภายหลัง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคู่แข่งในตลาดที่สำคัญ Grabfood, Foodpanda, Lineman, ShopeeFood ที่ยังคงอยู่ ซึ่งต้องมาดูกันว่า “ยิบอินซอย” จะทำอย่างไรที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดส่งอาหารเดลิเวอรี่นี้ได้
ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ลงทุนใหม่จะแบ่งเป็น ยิบอินซอย ถือหุ้น 50%, BTC ถือหุ้น 30%, เอสซีที เรนทอล คาร์ ถือหุ้น 10% และล็อกซบิท ถือหุ้น 10%
ที่มา: yipintsoi , กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง