จับตา พลังงานไฮโดรเจน ความมั่นคงด้านพลังงานไทยในอนาคต
ปัจจุบันทั่วโลกต่างพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดในหลายด้าน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุสูงสำหรับการเก็บพลังงาน การสร้างระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ การใช้พลังงานชีวภาพ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เพื่อผลักดันโลกไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับ “พลังงานไฮโดรเจน” ที่กำลังเป็นพลังงานทดแทนที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระดับโลก เนื่องจากมีศักยภาพในการช่วยลดมลพิษและส่งเสริมความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
พลังงานไฮโดรเจน สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ 1. เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม 2. กระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ โดยไฟฟ้าที่ใช้มีต้นกำเนิดมาจากพลังงานนิวเคลียร์ หรือที่เรียกว่าไฮโดรเจนสีชมพู (Pink Hydrogen) และ 3. กระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำโดยไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม หรือที่เรียกว่าไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกันนั้นก็ทำให้ได้ไฮโดรเจนที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย โดยปัจจุบันการผลิตไฮโดรเจนสีชมพูและสีเขียวมีสัดส่วนเพียง 1% ของไฮโดรเจนที่ใช้งานทั่วโลก
ข้อดีของพลังงานไฮโดรเจน คือ 1. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานไฮโดรเจนสามารถผลิตได้โดยปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากใช้แหล่งพลังงานสะอาดในการผลิต 2. แหล่งพลังงานที่หลากหลาย ไฮโดรเจนสามารถผลิตได้จากน้ำและวัตถุดิบอื่น ๆ ทำให้ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิล และ 3. มีประสิทธิภาพสูง ไฮโดรเจนสามารถใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนข้อเสีย คือ มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน การผลิตไฮโดรเจนบริสุทธิ์ยังต้องใช้พลังงานสูงและต้นทุนสูง และการพัฒนาเครือข่ายสถานีบริการและระบบจัดเก็บยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ตัวอย่างการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีหลายประเทศได้ลงทุนในพลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง เช่น ในญี่ปุ่น บริษัท Toyota และ Honda ได้พัฒนารถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้ในรถรุ่น Toyota MIRAI และ Honda Clarity นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนการสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ เยอรมนี บริษัท Siemens Energy ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนเขียวจากพลังงานลมในโครงการที่ชื่อว่า Haru Oni และยังเป็นผู้นำในโครงการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน เช่น รถไฟไฮโดรเจนของ Alstom ด้านเกาหลีใต้ บริษัท Hyundai ได้เปิดตัวรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรุ่น NEXO และรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเมืองไฮโดรเจนต้นแบบ พร้อมกับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วประเทศ
ในประเทศไทย ปตท. ได้เริ่มต้นเส้นทางพลังงานไฮโดรเจนจากการมองหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมพลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยช่วงแรกได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัยด้านการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง และระบบการจัดเก็บพลังงานไฮโดรเจน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการดำเนินงานของบริษัท GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอัจฉริยะของกลุ่ม ปตท. คือ 1 ใน 3 บริษัทผู้นำนวัตกรรมพลังงานของอาเซียน ก็ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อร่วมขับเคลื่อนเทรนด์พลังงานสะอาด ด้วยการลดใช้เชื่อเพลิงฟอสซิลมาเป็นการการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้เกิน 50% และวางเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2060 ผ่านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคตหลายรูปแบบ
การผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ SMR คือหนึ่งแนวการขับเคลื่องพลังงานไฮโดรเจนของบริษัท GPSC เนื่องจากการใช้เทคโนโลยี SMR มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม และไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตในแหล่งพลังงานสะอาดนี้ ยังสามารถนำไปผลิตไฮโดรเจนสะอาดได้ นอกจากนี้ยังนำไปเป็นสารตั้งต้นสำหรับการทำเคมีภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แอมโมเนียและเมทานอลสะอาด จึงนับเป็นการสร้างต้นแบบระบบนิเวศไฮโดรเจนในประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต
คลิกอ่าน: เปิดเทคนิค ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้าน-โฮมออฟฟิศ ให้คุ้มค่าและประหยัดพลังงาน