ส่องทิศทางการการปรับตัว ธุรกิจแฟรนไชส์ ในปี 2025
ปี 2025 ธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ความสำคัญด้านความยั่งยืนและการรับผิดชอบต่อสังคม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจ SME ด้วย โดยแนวโน้มการพัฒนาแฟรนไชส์ในปี 2025 มีดังนี้
การผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย ช่วยให้ธุรกิจง่ายขึ้น
- การใช้ AI และระบบอัตโนมัติ: แฟรนไชส์หลายแห่งกำลังนำ AI มาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน เช่น ระบบตอบกลับลูกค้าอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า และการพยากรณ์แนวโน้มตลาด เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ร้านอาหารในสหรัฐฯ ใช้ระบบ AI เพื่อแนะนำเมนูที่ตรงใจลูกค้าตามพฤติกรรมการสั่งซื้อในอดีต
- การฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยี VR และ AR: ธุรกิจแฟรนไชส์กำลังนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) และเทคโนโลยีเสริมความจริง (AR) มาใช้ในกระบวนการฝึกอบรมพนักงาน เช่น การจำลองสถานการณ์ในร้านค้าเพื่อเพิ่มทักษะการให้บริการลูกค้า การใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยลดเวลาการฝึกอบรมและเพิ่มความมั่นใจให้แก่พนักงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การมุ่งเน้นความยั่งยืน คือจุดเปลี่ยนสำคัญของุรกิจแฟรนไชส์
- การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืน แฟรนไชส์จำนวนมากจึงเริ่มปรับตัวโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น การเปลี่ยนจากพลาสติกเป็นวัสดุรีไซเคิล หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระบบไฟฟ้าของร้านค้า
- การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น: แฟรนไชส์บางแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เช่น การจัดหาวัตถุดิบจากเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่ง
การสร้างประสบการณ์ลูกค้าสุดประทับใจแบบเฉพาะรายบุคคล
- การใช้ข้อมูลเชิงลึก (Data-Driven Insights): แฟรนไชส์นำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล ตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ในกลุ่มฟิตเนสอาจใช้ข้อมูลสุขภาพของสมาชิกเพื่อนำเสนอโปรแกรมออกกำลังกายเฉพาะตัว
- การให้บริการแบบ Omni-Channel: ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านร้านค้าจริง เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน การบูรณาการช่องทางต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อหรือรับบริการได้อย่างสะดวกและมีประสบการณ์ที่ราบรื่น
ด้านปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของแฟรนไชส์ซี ได้แก่ 1. ความสอดคล้องกับค่านิยมหรือความชอบส่วนตัว เนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ในปัจจุบันมักพิจารณาเลือกแบรนด์ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัว เช่น ความยั่งยืน การสนับสนุนชุมชน และความรับผิดชอบต่อสังคม 2. การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากแฟรนไชส์ ซึ่งแฟรนไชส์ที่มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการสนับสนุนด้าน IT ที่แข็งแกร่งสามารถดึงดูดผู้ซื้อได้มากขึ้น เนื่องจากช่วยลดความซับซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ และ 3. ความยืดหยุ่นและการตอบสนองต่อแนวโน้มตลาด โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์มักมองหาแบรนด์ที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและสถานการณ์ตลาด
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2024 หมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็นธุรกิจอาหาร โดยมีสัดส่วนกว่า 46.7% ของแฟรนไชส์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในหมวดบริการ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ บริการซ่อมแซมบ้าน และธุรกิจสุขภาพและความงาม ซึ่งการปรับตัวที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแฟรนไชส์อาหารที่ต่างเพิ่มเมนูอาหารสุขภาพเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ เช่น อาหารที่เน้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ อาหารออแกนิกส์ นอกจากนี้ แฟรนไชส์ในไทยบางแห่งเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
ตัวอย่างการปรับตัวของแฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอน หนึ่งในแฟรนไชส์ร้านกาแฟชั้นนำในประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและสร้างความยั่งยืนในธุรกิจในอนาคต ดังนี้
- การใช้พลังงานสะอาด: ร้านคาเฟ่ อเมซอนบางแห่งเริ่มติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ไฟฟ้าในร้าน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
- การพัฒนาเมนูใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: อเมซอนได้เริ่มนำเสนอเมนูที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืน เช่น กาแฟที่มาจากเกษตรกรในท้องถิ่นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน
- การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก: คาเฟ่ อเมซอนมีการเปลี่ยนแปลงในด้านบรรจุภัณฑ์ โดยใช้แก้วและหลอดที่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อลดขยะพลาสติกในระบบนิเวศ
- การเพิ่มช่องทางดิจิทัล: อเมซอนได้เพิ่มการสั่งซื้อออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบสมาชิกที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถสะสมคะแนนและรับโปรโมชั่นพิเศษได้ การเชื่อมโยงระบบดิจิทัลกับประสบการณ์การใช้บริการในร้านทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายและมีความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้การตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ
ข้อมูลจาก: franchisegenesis, franflix, businesscoach, thailandfranchising, statista, winmarkfranchises
คลิกอ่าน: ครึ่งปีแรก 2567 กาแฟ “อเมซอน-อินทนิล-พันธุ์ไทย” ใครขายดีกว่ากัน