เปิดแนวทางเอาตัวรอดของ SME ไทย ในสภาวะเศรษฐกิจผันผวน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC เผยถึงความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากรอบด้านที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่เปราะบาง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การถูกตีตลาดจากสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีน รวมถึงผลกระทบจากกระแส ESG ด้วยเหตุนี้ การเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ SME สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง กอปรกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กดดันบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยให้ซบเซาต่อเนื่อง โดยกลุ่มตัวอย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์มีความไม่สบายใจต่อปัญหาดังกล่าวมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นสัญญาณความกังวลใจต่อปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่คาดว่าจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้านำเข้า ทั้งนี้การเรียกคืนความเชื่อมั่นให้แก่เหล่าธุรกิจ SME ควรเริ่มจากการเพิ่มบทบาทของภาครัฐและภาคการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายส่งเสริมการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เร่ง/เพิ่มการลงทุนภาครัฐ ลดความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ขณะที่ในระยะยาว ควรมีมาตรการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ รวมถึงกลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และบรรจุภัณฑ์

 

 

SME เชื่อมโยงกับกลไกการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ทั้งบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนตลาดแรงงานและภาคส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงรับเหมาก่อสร้าง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก อีกทั้ง ยังขาดความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า เพราะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในอนาคต SME จะเจออุปสรรคในการทำธุรกิจจะมากขึ้นและปรับตัวได้ยากเพราะส่วนใหญ่เกิดจากผลพวงของปัจจัยภายนอก อาทิ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ต้นทุนค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น บวกกับสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการในแต่ละขนาดวิสาหกิจมีการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจขนาดย่อม (Micro) จะเน้นมาตรการลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและกลางส่วนใหญ่จะหันมายกระดับธุรกิจผ่านการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และการตลาดให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

SME ไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพธุรกิจในระยะยาว สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างราว 70% กำลังขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาฝีมือ แรงงาน ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูง โดยคาดว่า แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาด้านต้นทุน ความล้าสมัยของกระบวนการทำงาน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากรอบด้าน อุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ทั้งนี้แหล่งเงินทุนหลักสำหรับธุรกิจ SME ยังคงพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นหลัก จะมีเพียงวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro) ที่จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากกำไรสะสมของธุรกิจและทรัพย์สินของผู้ประกอบการ เนื่องจากส่วนใหญ่เผชิญปัญหาความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและการจัดทำบัญชียังไม่เป็นระบบ

ธุรกิจ SME ค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกต่อกระแส ESG โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ส่วนใหญ่ได้กำหนดแผนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายความยั่งยืนแล้ว ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อมยังขาดความพร้อม โดยเฉพาะด้านความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ESG อีกทั้งยังมีความกังวลต่อผลกระทบด้านต้นทุนที่อาจปรับสูงขึ้น ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างในอุตสาหกรรมปั๊มน้ำมัน จำหน่ายเคมีภัณฑ์ รับเหมา และขายวัสดุก่อสร้าง จะตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวมากที่สุด เช่น การปรับตัวจะเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่สำนักงานหรือร้านค้า รวมถึงการเลือกใช้หรือเพิ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นตัวเลือกที่หลากหลายแก่ลูกค้า สำหรับความยั่งยืนทางสังคม SME ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมักหันมาพึ่งพาสินค้าและบริการในท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้ง ยังมุ่งยกระดับสิทธิแรงงานในด้านความเป็นธรรมและหลากหลาย ทั้งนี้การปรับตัวของ SME ให้สอดรับกับกระแส ESG จำเป็นต้องอาศัยโครงการจัดอบรมให้ความรู้และโครงการมีที่ปรึกษาที่กระจายตัวอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดย่อมและธุรกิจในจังหวัดเมืองรองยังเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือเหล่านี้ได้ค่อนข้างจำกัด จนมีส่วนทำให้การปรับตัวทำได้ค่อนข้างยากและมีต้นทุนสูง

 

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC