SME

เรื่องน่าเป็นห่วง! 65% ของ SME ไทย ตกเป็นเหยื่อเหล่าแฮกเกอร์ ทำธุรกิจสะดุด

ปัจจุบันการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องน่าตกใจ และต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ SME ที่มีสถิติน่าตกใจว่าตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์ จนทำให้ธุรกิจสะดุด-สูญเสียรายได้

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. เผยรายงานจาก Cisco ในปี 2567 ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในประเทศไทยกำลังตกเป็นเป้าหมายสำคัญของอาชญากรไซเบอร์ โดยมีแนวโน้มการโจมตีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านการเงิน และชื่อเสียงองค์กร

ข้อมูลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า 65% ของ SMEs ไทยตกเป็นเป้าการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้กว่า 56% ของธุรกิจต้องหยุดชะงัก ไม่เพียงแค่นั้น 47% ขององค์กรได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 16 ล้านบาท/ครั้ง และ 28% ของธุรกิจที่ถูกโจมตีเกิดความเสียหายสูงถึง 32 ล้านบาท

 

 

สำหรับรูปแบบการโจมตีที่พบบ่อยมากที่จะมาในลักษณะของมัลแวร์ คิดเป็น 91% และฟิชชิ่ง คิดเป็น 77% รองลงมาคือการโจมตีแบบ DDoS (Distributed Denial of Service) และการขโมยข้อมูล (Data Breach) เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และชื่อเสียงของธุรกิจเป็นอย่างมาก

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการตกเป็นเหยื่อมาจากการขาดโซลูชัน Cybersecurity ที่มีประสิทธิภาพ โดย 25% ของธุรกิจไม่มีระบบป้องกันไซเบอร์ รวมถึงปัญหาที่สำคัญคือการขายองค์ความรู้ และการละเลยการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์

อีกประเด็นที่สำคัญ คือการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีความล้าสมัย และรหัสผ่านที่คาดเดาง่ายจึงเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจตกอยู่ในความเสี่ยง กลายเป็นจุดอ่อน เปิดช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาล้วงลึกข้อมูลที่สำคัญได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 โดยผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจเผชิญบทลงโทษที่รุนแรง เช่น ค่าปรับจำนวนมหาศาล หรือการถูกฟ้องร้องในกรณีที่เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้องค์กรต้องจัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอย่างปลอดภัย รวมถึงการได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลตามข้อกำหนด ตลอดจนองค์กรยังต้องมีแผนรับมือ และป้องกันข้อมูลรั่วไหลอย่างชัดเจน

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ