บ้านโคกเจริญ หมู่ 5 อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี เป็นชุมชนเล็กๆ อยู่ทางเหนือของจังหวัดลพบุรี ชุมชนส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากแถบอีสาน จึงทำให้มีความรู้ความสามารถด้านการทอผ้าติดตัวใช้เองในแต่ละครัวเรือน การทอผ้าของชาวโคกเจริญเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นที่ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำอาชีพหลัก ทำนา ทำไร่อ้อย ไร่มัน
ด้วยความรักสามัคคีของชุมชน จึงมีการรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียว และด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้การทอผ้าของโคกเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
วิถีชุมชนชาวบ้านโคกเจริญ ผูกพันกับการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงอีสาน ที่ต้องเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้าจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่พร้อมจะออกเรือน การทอผ้าในอดีตเป็นการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน ผู้เป็นแม่ได้ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการทอผ้าให้ลูกหลาน สืบทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย ผ้าที่ทอนิยมสวมใส่ไปทำบุญที่วัด หรือใช้งานในงานพิธีงานมงคล รวมทั้งเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
งานบุญบั้งไฟ ของชาวโคกเจริญได้ปฏิบัติเป็นประเพณีประจำกันทุกปี ติดต่อกันมานานกว่า 50 ปี เป็นงานบุญบั้งไฟแห่งเดียวในภาคกลาง นิยมจัดเดือน 6 ของทุกปี ถือกันว่าเป็นประเพณีของฝนตามความเชื่อของชาวอีสาน เพื่อก่อให้เกิดความชุ่มชื่นแก่พันธุ์พืชที่ปลูก ที่นี่เป็น บั้งไฟล้าน ขนาดใหญ่ใช้ดินประสิวมากถึง 100 กิโลกรัม
เป็นความเชื่อของชาวไทยอีสานที่ว่า การจุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นการบูชาพญาแถน เทพเจ้าแห่งฟ้าฝน เมื่อพญาแถนได้รับทราบจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
ป้าลํ่า นารีย์ ผู้นำของหมู่ 5 บ้านโคกเจริญ พื้นเพเป็นชาวกาฬสินธุ์ เริ่มขโมยขึ้นทอผ้า ตั้งแต่วัยเด็กเพียง 12 ขวบ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยากทอผ้าได้เหมือนคุณแม่ ซึ่งทอผ้ากันเป็นงานประจำ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทุกวันนี้ป้าลํ่า ทำไมคร่ำหวอดในทุกกระบวนการทอผ้า คุณป้าล่ำได้ย้ายถิ่นฐานมาที่อำเภอโกคเจริญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 และได้เริ่มทอผ้ากันเป็นกิจวัตรในปี พ.ศ. 2535 “ช่วงนู้นที่โคกเจริญยังเลี้ยงไหมกันเองนะ ผ้าทอของเราจึงเป็นไหมมัดหมี่ ที่ทำให้เรามีชื่อเสียงโด่งดังมาไงคะ”
การทอผ้ามีกระบวนการมากมาย ชาวบ้านโคกเจริญหมู่ 5 เชี่ยวชาญครบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการม้วนโมเลห์ที่ต้องใช้หลายคนช่วยกัน ใช้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ หรือการเตรียมฟืมหรือฟันหวี ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเรียงเส้นไหม เป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีช่องเล็ก ๆ คล้ายซี่ฟันหวีขนาดของฟืม จะเรียกตามจำนวนช่องระหว่างซี่ฟืม โดย 1 ฟืม 1 หลบเท่ากับ 40 ช่องฟันหวี
การเตรียมฟืมทอผ้า นำไหมที่ค้นเครือเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาจัดเรียงร้อยเข้าฟันหวี แต่ละช่องทุกช่อง ช่องละ 2 เส้น ร้อยเก็บตะกอแยกเส้นยืน ขึงเส้นด้ายให้ตึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย โดยทั่วไปสำหรับฟืมที่มีการเก็บตะกอไว้แล้ว จะใช้วิธีการสืบเครือหู โดยนำเส้นไหมยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายเดิมที่เก็บตะกอฟืมไว้โดยทำการผูกต่อทีละเส้นตามลำดับจนครบทุกเส้น ม้วยเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ จัดเรียงเส้นยืน ตะกอและฟืมบนกี่ทอผ้าให้เรียบร้อย เพื่อเริ่มทำการทอผ้าด้วยกี่กระตุก จึงเป็นวลีที่ว่า “กี่ดัง สตางค์มา”
กว่า 200 ครัวเรือนที่บ้านโคกเจริญ หมู่ 5 ร่วมใจกันทอผ้าเสียงกี่ดังกระหน่ำ เพื่อรังสรรค์ลวดลายเป็นผ้าทอมือมัดหมี่ที่งดงามหลายหลายมาก ซึ่งชาวบ้านต่างช่วยกันออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์
แต่ละลวดลายมีที่มาในการออกแบบซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลายดอกพิกุล “ลายขนมปัง”ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาวด้วย ซึ่งเป็นจินตนาการของชุมชนที่เห็นคุณยายหยิบขนมปังปี๊บขึ้นมาทานกัน เลยมีความคิดออกแบบเป็นลวดลายสี่เหลี่ยม เพิ่มลายไทยตรงกลางเข้าไป
การทอผ้ามัดหมี่ที่นี่ ใช้กี่กระตุกสองตะกอสี่ตะกอ เป็นงานฝีมือที่ใช้ทักษะและความคล่องชำนาญในการสอดกระสวยด้าย การกระตุก การเหยียบตะกอด้วยสองเท้า ด้วยความคล่องแคล่วสองมือสองเท้าประสานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ทำให้ผ้าทอมัดหมี่ได้เนื้อผ้าแน่น ลวดลายสวยงามเป็นให้ผิวมันดูเงางาม
ผ้าทอมัดหมี่ระดับห้าดาว ผืนนี้สีดำเป็นเงาสวยคลาสสิคนี้ ใช้เวลาทอเพียง 1 วัน เริ่มตีทอไปเรื่อย ๆ ไม่นานก็สำเร็จ เป็นผ้ามัดหมี่ หน้ากว้าง 96 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร สามารถนำไปตัดเสื้อไปสบาย ลายนี้เป็นลายขอพระเทพ ที่ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอทอประดับ 5 ดาว ประจำจังหวัด หรือมีอีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน คือลายกำแพงเมืองจีน ก็สามารถนำไปตัดเป็นเสื้อคอจีนได้อีกสไตล์ ก่อนจะทอด้วยกี่กระตุก จะเริ่มมัดหมี่ที่ประดิดประดอยลาย ย้อมด้วย เที่ยงก็เสร็จ ช่วงบ่ายก็จะเป็นขั้นตอนแกะ ปั่น กรอใส่หลอดเสร็จภายใน 1 วันเพื่อขึ้นกี่กระตุกในวันเช้าวันรุ่งขึ้น
หากนักท่องเที่ยวชอบใจลายไหน สามารถสั่งความยาวพิเศษ เพื่อนำไปตกแต่งได้ตามความต้องการ
สำรับของชาวโคกเจริญส่วนใหญ่เป็นอาหารอีสาน อาทิ อ่อมไก่ แกงขี้เหล็ก ซุปมะเขือ ตำแจ่วปลาร้ามะกอก ปลานึ่งอร่อย และข้าวโปร่งรสหวาน ของว่างทานเล่น ที่ใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุกไปตำใส่ครกโบราณ เพิ่มกะทิ ไข่ งาดำ ย่างไฟหอมเกรียม
กี่ดัง สตางค์มา บ้านโคกเจริญ หมู่ 5 เสน่ห์ชุมชนที่มีประเพณีบุญบั้งไฟ แห่งเดียวในภาคกลาง