บ้านร่วมใจสามัคคี หรือบ้านโคกเจริญ หมู่ 12 อำเภอโคกเจริญ จ.ลพบุรี เป็นชุมชนเข้มแข็ง ด้วยผลจากการการดำเนินการของหมู่บ้านผ่านกลไกประชารัฐ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้สามารถพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับการตลาด ซึ่งการทอผ้ามัดหมี่ของชาวโคกเจริญ คืออาชีพเสริมของครัวเรือนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณได้มาเที่ยว เยี่ยมชมทุกกระบวนของการทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านบ้านร่วมใจสามัคคี จะได้เห็นคุณค่าของผ้าแต่ผืนที่มาจากความตั้งใจในทุกฝีมือ แต่ละขั้นตอนซึ่งล้วนมีรายละเอียดที่พิถีพิถัน แสดงให้เห็นความประณีต เป็นงานฝีมือแท้ ๆ ที่เกิดจากความรักและฝึกฝนจนชำนาญและเชี่ยวชาญ
คุณศศิประภา ยนปลัดยศ ประธานศูนย์เรียนรู้ หมู่ 12 บ้านโคกเจริญ เป็นผู้นำก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทอผ้ามัดหมี่แห่งนี้ จะเป็นไกด์พาเราชมกระบวนการต่างๆ การมัดหมี่เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมือง และกระบวนการที่ทำให้เกิดลวดลาย
แต่ก่อนจะได้ผ้ามัดหมี่ตามลวดลายสวยงาม ต้องนำไปย้อม 3-4 ครั้ง เพื่อนำมากรอเส้นด้าย เตรียมที่จะเข้ากี่ทอผ้า แล้วปั่นหัวหมี่ ค้นหัวหมี่ ซึ่งหมายถึงการเอาเส้นด้านพันรอบหลักหมี่ (โฮงหมี่) เตรียมเพื่อที่จะมัดขึ้นลาย เราจะได้ยินศัพท์แสงแปลกอยู่มากมาย ล้วนเป็นภาษาถิ่น “โอบ” หมายถึง การพัน สมัยก่อนใช้เชือกกล้วย ปัจจุบันเลือกใช้เชือกฝาง สะดวกหาง่าย
“หมี่” หมายถึง เส้นด้ายสังเคราะห์ ซึ่งแต่ก่อนเคยใช้เส้นไหม แต่กรรมวิธีในการเลี้ยงตัวไหมน้อยลงจึงหันมาใช้เส้นดายสังเคราะห์ “ใช้เวลามัดหมี่ ที่ป้านั่งทำกันนี่ ประมาณ 6 วัน เป็นการมัดหมี่ตามลวดลาย” ลวดลายที่มัดพัน ได้มีการออกแบบลวดลายไว้แล้วเป็นตารางที่วาดเป็นแบบไว้
เชือกฝางที่นำมาพันแต่ละเปลาะคือตัวช่วยที่ทำให้เกิดลวดลายแต่ละจังหวะ แต่ละช่วงอยากได้ลายช่วงไหนเป็นแถบสียาวๆ ก็พันเชือกเป็นเปลาะยาวๆ ลวดลายจะคมชัดสวยงามก็ต้องมัดให้แน่นทุกจุด ถ้าไม่แน่นเวลาย้อมสีก็จะซึมเลอะ
ลวดลายผ้ามัดหมี่ในอดีต มีลักษณะเป็นลายเรขาคณิต ลายขอเปีย ลายข้าวหลามตัด หรือเป็นลายกลุ่มดอกไม้ เช่นลายดอกแก้ว ลายใบไม้ ลานก้านขด หากเป็นลายโบราณจะมีความละเอียดประณีตมาก เมื่อมาถึงที่นี่ หากใครสนใจจะลองเรียนรู้การมัดหมี่ ก็สามารถติดต่อล่วงหน้าได้
ชาวบ้านโคกเจริญเกือบทุกครัวเรือน มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้ามาแต่เยาว์วัย จะเรียกว่า “ชาวบ้านโคกเจริญ มีวิถีทอผ้าโดยกำเนิด” ก็ได้ เป็น“หมู่บ้านทอผ้าโคกเจริญ” ทีเดียว บางครอบครัวถนัดย้อมสี ก็ย้อมอย่างเดียว หรือบางบ้านก็สามารถได้ครบทุกขั้นตอน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีอาชีพหลักคือทำนา และใช้เวลาว่างจากการทำนามาทอผ้ากัน
คุณป้าท่านหนึ่งเดินมาคว้าหัวหมี่ที่มัดเสร็จแล้วไปเตาที่ตั้งน้ำเดือดรอไว้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าทำยังไงกัน เราจึงเดินตามไปดู นี่คือ ขั้นตอนการย้อมหมี่ “ย้อม 1 ครั้ง ได้ 1 สี ย้อม 3 ครั้งได้ 5 สี ย้อม 6 ครั้ง ได้ 6 สี” งงมั้ยละคะ “นี่แหละ จุ่มหัวหมี่ลงไป แกว่งกลับไปกลับมา รอให้สีอิ่มจะได้สีเสมอกัน ให้สังเกตน้ำในกะละมังนี้ หากน้ำใสขึ้น ก็แสดงว่าย้อมสีได้ที่แล้ว” สีที่ย้อมจะติดบริเวณที่ไม่ได้มัดเชือกฟาง หลังจากนั้นก็นำไปตากแห้ง เพื่อแกะเชือกฟางที่มัดออก หรือนำกลับไปมัดหมี่ตามลวดลาย แล้วนำไปกลับไปย้อมสีอื่นอีก เพื่อให้ได้สีและลวดลายสวยงาม
ปัจจุบันใช้สีเคมีสีสังเคราะห์ สะดวกและมีสีสันให้เลือกมากมาย ละลายในน้ำร้อนได้ทันที คุณภาพสีเคมีในปัจจุบันซักแล้วสีจะไม่ตก ในอดีตการทอผ้าของบรรพบุรุษใช้สีธรรมชาติจากผลมะเดื่อ ซึ่งย้อมผ้าได้เป็นสีเทาดำ และไม่ดำสนิท หรือใช้ลูกหมากก็จะได้ผ้าสีแดงอมชมพู ผ้าทอสมัยก่อนจึงมีเพียงไม่กี่สี
หลังจากเห็นทุกกระบวนการมัดหมี่ผ้าทอโคกเจริญนี้ ทำให้เราเข้าใจได้เลยว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาเป็นร้อย ๆ ปี เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีใครต้องจบปริญญาศิลปะ ไม่มีใครต้องเรียนวิทยาศาสตร์การเคมี เพราะนี่คือ “ศาสตร์และศิลป์” โดยกำเนิดแท้ ๆ
ใครมาที่นี่ต้องไม่ลืมที่จะไปลิ้มลองเมนูเด็ด ซุปทรัพย์คีรี ซุปหน่อไม้ยอดนิยม ใช้หน่อไม้สดตามธรรมชาติบนภูเขา เคียนหน่อไม้เป็นเส้น ตำพริก หอมแดง กระชาย ตะไคร้ ใบขิง เติมน้ำใบย่านางสักหน่อย ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา น้ำปลาร้า ข้าวคั่ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน อร่อยลงตัว นอกจากนั้นยังมี ข้าวกี่ แจ่วบอง แกงอ่อมไก่ และวุ้นเครือหมาน้อย ขนมหวานสมุนไพรที่เย็นชื่นใจ มีสรรพคุณแก้ปวดหลังปวดเอว แก้เจ็บคอได้ดี ปรับสมดุลของผู้หญิงวัยประจำเดือน แก้บิด แก้ปวดเกร็งในช่องท้อง