Temu

อินโดฯ แบนแพลตฟอร์ม Temu เพราะไม่อยากให้เข้ามาทำลาย SME ในประเทศ

แม้ว่าโลกการค้าขายทุกวันนี้จะเป็นแบบไร้พรมแดน ทุกคนสามารถซื้อสินค้าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นดาบที่กลับมาทิ่มแทงผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะ SME การมาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากกับการเข้ามาเปิดตลาดในประเทศแถวอาเซียน รวมถึงไทย ซึ่งก็มีการตั้งคำถามว่าเรามีมาตรการป้องกันอย่างไร เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไม่ให้เสียเปรียบในเรื่องของราคาสินค้าที่ดูเหมือนว่าจะถูกกว่า

 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จะออกมาตรการเด็ดขาดเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม “เทมู” นั่นคือรัฐบาลอินโดนีเซียที่เตรียมแบน โดยให้เหตุผลถึงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในท้องถิ่นได้

 

 

Fiki Satari ที่ปรึกษาพิเศษกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอินโดนีเซีย ได้เรียกประชุมเพื่อระงับการให้บริการ เทมูบน App Store และ Play Store แม้ว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนรายนี้จะยังไม่เริ่มดำเนินการเป็นทางการในอินโดนีเซียก็ตาม

 

ทางการอินโดนีเซียมีจุดยืนที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนรายนี้เปิดให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าโดยตรงจากโรงงานจีน ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามอย่างมากต่อธุรกิจในท้องถิ่น โดยการเข้ามาของแพลตฟอร์มรายดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ประกอบการชาวอินโดนีเซีย

 

Nandi Herdiaman หัวหน้าสมาคมผู้ประกอบการท้องถิ่น IPKB เน้นย้ำถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าราคาถูก พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมที่สร้างงานให้กับผู้คนนับล้านอาจเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น หากเทมูถูกให้ดำเนินการโดยไม่ต้องตรวจสอบ

 

“เราต้องการเรียกร้องให้มีการควบคุมที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ตลอดจนอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องตลาดในประเทศ” Herdiaman กล่าว

 

ด้านกระทรวงการค้า อินโดนีเซีย เน้นย้ำว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของ เทมูขัดแย้งกับกฎระเบียบการค้าของอินโดนีเซีย ซึ่งกำหนดให้ใช้คนกลาง หรือตัวแทนจำหน่ายสำหรับธุรกิจต่างประเทศ เช่นเดียวกับ Budi Arie Setiadi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ ออกมาพูดว่าเราจะไม่ให้โอกาส ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเราจะต้องพังทลายถ้าไม่ได้รับการตรวจสอบ

 

 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา เทมูเข้ามาจัดกิจกรรม แนะนำแพลตฟอร์มในงาน E-commerce Expo 2024 ในกรุงจาการ์ตา โดยได้รับความนิยมจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก รวมถึงพยายามจะจดทะเบียนในอินโดนีเซีย แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางกฎหมาย รวมถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้า

 

มองย้อนไปกรณีที่คล้ายคลึงกัน เมื่ออินโดนีเซียแบน TikTok Shop โดยให้เหตุผลถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้ค้าในพื้นที่ และการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม TikTok กลับมาสู่ตลาดอินโดนีเซียอีกครั้งด้วยการซื้อหุ้นสัดส่วน 75% ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นชื่อว่า Tokopedia ในเดือนมกราคม 2024 ให้ดำเนินการตามกรอบการกำกับดูแลของอินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้  เทมูมีเจ้าของโดย PDD Holding ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงงานในจีนโดยตรง เชื่อมโยงกับผู้บริโภคมากกว่า 50 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย, ไทย และสหรัฐฯ

 

ที่มา: business-indonesia, scmp

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง