อ.ช่างหัวโขน เผยวัฒนธรรมเลอค่า มรดกโลกที่ต้องรักษาไว้ตราบชั่วชีวิต


จากกรณีที่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าผลการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2561 ณ เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วมประชุม 181 ประเทศ

โดยที่ประชุมได้พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชี การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการนั้น  Smart SME ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ อาจารย์เฉลิมพล ชัยณรงค์พร อาจารย์ประจำศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยในวัง (ศาลายา) วิทยากรครูช่าง ช่างหุ่นหัวโขน   โดยได้ให้ความรู้เรื่องที่มาที่ไปของ โขนไทย และเรื่องราวน่ารู้ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า 

“ไทยกับกัมพูชา ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีดินแดนติดกัน มีการติดต่อคบหากันมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะมีบางอย่างเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ใช่ว่าจะคล้ายคลึงกันกัมพูชาอย่างเดียว พม่าหรือลาวก็เช่นกัน หลายๆ ประเทศที่กล่าวมาก็มีการแสดงโขนเหมือนๆ กัน ดังนั้นหากจะถามหาว่าใครจะเป็นต้นฉบับนั้น เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะแต่ละชาติก็ต่างคิดว่าชาติของตนเองต้องเป็นผู้คิด เป็นต้นแบบทั้งนั้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นมีหลักฐานการแสดงโขนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า เล่นการชักนาคดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่าการสร้างหัวโขนเกิดขึ้นในยุคนั้น และได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาจนเป็นการแสดงโขน”

อาจารย์เฉลิมพล กล่าวด้วยว่า ยังมีงานช่างอีกหลายแขนง เช่นงานเครื่องรัก งานลายรดน้ำ ที่ไม่ทราบว่าชาติใดเป็นต้นกำเนิดซึ่งการที่จะถกเถียงกันว่าใครเป็นต้นตำรับเป็นผู้ให้กำเนิด…ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ นานา ประการที่จะทำให้กระทบกระทั่งกันไปมา วัฒนธรรมที่หลั่งไหล เพราะเอเชียเรามีภูมิศาสตร์อันอุดมสมบูรณ์ ทำให้เอเชียเป็นแหล่งกำเนิดของศาสดาเกือบทุกศาสนา เป็นแหล่งที่มีต้นกำเนิดงานช่างศิลปหัตถกรรม ฯลฯ

สังคมของเราสมัยก่อน ยังไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ชนชาติต่างๆ คบค้าสมาคมติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ รวมถึงศิลปวัฒนธรรม เอเชียยังมีแหล่งอารยธรรมของโลกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของงานช่างศิลปหัตถกรรมอยู่แล้ว เพราะมันอยู่คู่กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย หรือว่าสงครามที่ไม่ใช่จะเป็นการรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งที่อยู่แย่งดินแดนกัน แต่สงครามสมัยก่อนนั้นเค้าแย่งคนแย่งประชากรกัน ชาติไหนที่ขึ้นชื่อว่าเก่งด้านงานช่าง งานศิลปกรรมก็จะถูกกวาดต้อนไปทำงานให้ชาติผู้ชนะสงคราม มันจึงเป็นการหลั่งไหลของงานศิลปกรรมและความคิดทั้งหลายทั้งปวง สรุปก็คือเราเป็นชาติเอเชีย ชาติอาเซียน เราใช้วัฒนธรรมต่างๆ ร่วมกันมานาน การที่จะบอกว่าใครลอกเลียนแบบใคร หรือใครกันแน่ ที่เป็นต้นฉบับจึงไม่เป็นที่สิ้นสุด

ทำไมต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลก

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่เหมือนการจดทะเบียนสิทธิบัตร มรดกโลก ชื่อบอกอยู่แล้วว่าเป็นมรดกของโลกใบนี้ เป็นของล้ำค่าของส่วนรวม เป็นการบันทึกความทรงจำของโลกว่าชาติใดทำอะไรยังไง ซึ่ง โขน ก็ถือเป็นสิ่งที่นำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยเราเช่นกัน

ถามว่าเรียนโขนได้อะไร?

โขนจัดอยู่ในหมวดนาฎศิลป์ซึ่งเป็นวิชาศิลปะประเภทหนึ่งเป็นศิลปะการแสดง ผู้ที่ผ่านการเรียนศิลปะแขนงนี้มาได้แน่นอนต้องมีความอดทน ศิลปะทุกแขนงต้องใช้การฝึกฝน และต้องดัดร่างกายมือเท้าถีบเหลี่ยม ถ้าไม่อดทนต่อความเจ็บปวดแล้วก็จะเรียนนาฎศิลป์มิได้ เพราะศิลปะประเภทนี้ใช้ร่างกายเป็นสื่อ อีกอย่างคือได้ศึกษาศาสนา โขนนั้นใช้สำหรับเล่นเรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว ซึ่งเรื่องรามเกียรติ์นั้นเป็นของศาสนาฮินดู แต่ประเทศไทยเราเมืองพุทธซึ่งผสมผสานกันฮินดูมานาน ทั้งนี้เพราะคำสอนของศาสนาฮินดูยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์นี้ เป็นเรื่องของธรรมะชนะอธรรมซึ่งก็เป็นหลักการของศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน

เด็กรุ่นใหม่ยังสนใจเรียนโขนกันเยอะ ดูจากจำนวนผู้เรียนในวิทยาลัยนาฎศิลป์ ซึ่งก็มีคนมาเรียนไม่ขาดสาย แต่ทางสายช่างทำหัวโขนจริงๆค่อนข้างน้อย สถานศึกษาเฉพาะด้านการทำหัวโขนก็น้อย มีที่เพาะช่าง ช่างฝีมือในวังชายและวิทยาลัยในวังศาลายา

ณ ปัจจุบันนี้เรามีเอกลักษณ์ มีศิลปวัฒนธรรมที่สวยและดีงามก็จงช่วยกันรักษาสิ่งที่บรรพชนของเราทิ้งประโยชน์ไว้ให้เพื่อส่งมอบให้คนรุ่นหลังสืบไป

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

**สำเร็จแล้ว “ยูเนสโก” ประกาศให้ “โขนไทย” ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้