เพราะความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ เป็นอีกทักษะการปรับตัวที่ช่วยให้โมเดลธุรกิจของ SMEs สามารถเติบไปได้เร็วขึ้น ครั้งนี้เราจึงพามาพบกับ 5 แนวคิด การสร้างความยืดหยุ่นการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ของ SMEs รุ่นใหม่ เพื่อผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในรูปแบบธุรกิจของตนเอง
นันธาวรรณฟูดส์ ดึงจุดแข็งฟาร์มอินทรีย์ มาต่อยอดเป็นธุรกิจน้ำผลไม้ออร์แกนิค
เราทำฟาร์มผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เราเลยอยากต่อยอดจุดแข็งที่เรามี มาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ๆ อย่างน้ำผักผลไม้ออร์แกนิคแท้ 100% โดยเฉพาะการนำส่วนที่ไม่ได้ขนาดตามลูกค้าต้องการ เช่นเล็กไป หรือใหญ่ไปมาใช้แปรรูป เพราะถ้าไปทิ้ง ก็จะเสียเปล่า
และเนื่องจากสินค้าเราพัฒนามาเพื่อคนรักสุขภาพ เราเลยต้องพยายามรักษาคุณภาพให้คงที่ และต้องพัฒนาต่อไปให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา เราจึงสร้างแรงจูงใจพนักงาน ด้วยการปรับวันเวลาทำงานให้เหมาะสมกับ Work-Life Balance รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากทำงานควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัวก็ทำได้ ซึ่งเหล่านี้คือความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจของเรา: สุวรรณี วงศ์ปิ่นแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท นันธาวรรณฟูดส์ จำกัด (อ่านต่อ)
ไทยคอนจัคไดเอทารี่ ส่งต่อบุกแปรรูปจากแหล่งเพาะปลูกคุณภาพ เพื่อคนไทยมีสุขภาพดี
เราเป็นผู้ผลิต และส่งออกหัวบุกมานานกว่า 10 ปี มีแหล่งวัตถุดิบหัวบุกคุณภาพสูงจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหัวบุกที่ดีที่สุดของไทย จึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และนำไปประยุกต์ใช้ปรุงอาหารได้ทุกความต้องการ คนส่วนใหญ่รู้ว่าบุกเป็นสินค้าคุณภาพดี แต่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งอาหารหวาน อาหารคาว อาหารกินเล่น และอาหารนานาชาติ อย่าง บุกข้าว ก็สามารถนำไปทำข้าวปั้นซูชิ ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นก็สามารถนำไปทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีนน้ำยา ผัดซีอิ๊ว ยำวุ้นเส้น ผัดหมี่โคราช บะหมี่ หมี่ซั่ว ก๋วยจั๊บ สปาเก็ตตี้ พาสต้า เฟตตุชินี ส่วนของหวานก็เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวแช่ บัวลอย ชานมไข่มุก และเมนูอื่นๆ มากมาย
เราอยากทำบุกแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าชั้นดีของไทย จากแหล่งปลูกบุกคุณภาพ ให้คนไทยได้รับประทานกัน เพราะส่วนใหญ่สินค้าดีๆของเราจะถูกส่งออกไปต่างประเทศซะหมด สำหรับการเก็บเกี่ยวเราก็ไม่ได้ใช้พนักงานประจำ แต่จะว่าจ้างชาวเขาในพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มชาวเขาที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว: ธนารัตน์ จิตต์พายัพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยคอนจัคไดเอทารี่ จำกัด (อ่านต่อ)
กล้วยทอดติดดาว แฟรนไชส์กล้วยทอดไม่ธรรมดา ที่ทำง่ายและได้ความอร่อย
เราใช้เวลาลองผิดลองถูกมากว่า 2 ปี กว่าจะได้แป้งทำกล้วยทอดที่สมบูรณ์ เนื่องจากเราต้องไปออกบูธบ่อยๆ เลยปรับสูตรให้มีความยืดหยุ่นโดยไม่ใช้น้ำกะทิ และมะพร้าวขูดขาว เพราะมะพร้าวขูดขาวจำเป็นต้องแช่เย็นตลอดเวลา ซึ่งสูตรนี้ยังคงความกรอบนานขึ้น 2-3 ชั่วโมง
ปัจจุบันขายกล้วยทอดถุงละ 20 บาท แต่บางครั้งมีต้นทุนเพิ่ม เช่น ค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบที่ผันผวนของกล้วย เผือก มัน ทำให้เราต้องมาคิดระบบแฟรนไชส์ใหม่ อย่างตอนไปออกบูธที่ ICONSIAM ตอนนั้น เราขายถุงละ 50 บาท เพราะมีต้นทุนค่าเดินทางจากอยุธยาไปกรุงเทพ บวกกับค่าเช่าที่ที่สูงถึงวันละ 3,000 บาท ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถปรับราคาขายปลีกได้ตามความเหมาะสม ต้องดูว่าเราไปขายที่ไหน ขายให้ใคร เช่นไปขายหน้าโรงเรียนก็อาจจะขายถุงละ 15-20 บาท
เรามองว่าลูกค้าเขาได้ซื้อแฟรนไชส์เราไปแล้วก็จริง แต่เขาเป็นผู้บริหารจัดการเอง ซึ่งเขาก็คือเจ้าของ สิ่งที่เราควบคุมได้ดีที่สุดคือมาตรฐานเรื่องรสชาติ ส่วนราคาขายผู้ซื้อแฟรนไชส์ไปจะรู้ดีที่สุดว่าเขาไปซื้อกล้วย เผือก มัน มาจากไหน เวลาหั่นแล้ว ควรจะให้ลูกค้ากี่ชิ้น และขายถุงละกี่บาท เพราะสุดท้ายคนขายของก็ต้องขายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ลูกค้า และตัวเขาเองมีความสุขมากที่สุด: นาตยา รางวัลหลาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บานาน่าสตาร์ จำกัด (อ่านต่อ)
ออสซี่ออยล์ การลงทุนธุรกิจพลังงาน เลือกรับกำไรได้ตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน
นอกจากเราจะมีแฟรนไชส์ตู้น้ำมันหยอดเหรียญที่ถอดโมเดลทางธุรกิจมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้แต่ละชุมชนมีปั้มน้ำมันขนาดเล็กเอาไว้บริการรถยนต์ที่สัญจรไปมา และใช้น้ำมันกับเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ แล้ว เรามองว่าปัญหาหลักของเรื่องนี้คือ การขนส่งน้ำมันเข้าไปยังชุมชน ซึ่งทุกวันนี้ยังมีช่องว่างของการขนส่งน้ำมันเข้าไปในชุมชนอีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของแนวคิด 1 คลังน้ำมัน 1 ตำบล
เราจึงพัฒนาแฟรนไชส์ด้านน้ำมันที่ครบวงจรมากที่สุด มีให้เลือกลงทุนน้อยกับตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ เพื่อรับผลกำไรเดือนละหลักพันถึงหลักหมื่น ไปจนถึงแฟรนไชส์ขนาดใหญ่แบบคลังน้ำมันชุมชน เพื่อรับผลตอบแทนหลักแสนต่อเดือน ซึ่งถือเป็นความยืดหยุ่นในการเลือกลงทุนที่หลากหลาย: สมโชค เดชะ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ออสซี่ ออยล์ จำกัด (อ่านต่อ)
โลโซโตเกียว แฟรนไชส์ลงทุนน้อยเพื่อคนหาเช้ากินค่ำ และไม่จำกัดความสร้างสรรค์
ในอดีตตัวเราเองก็ทำอาชีพค้าขายเป็นคนหาเช้ากินค่ำแบบหลายคน เราเข้าใจว่าบางเดือนรายได้ไม่พอกับภาระรายจ่าย เราเลยออกแพ็คเกจลงทุนน้อย เพียง 1,000 บาทขึ้นมา เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้สูตร และให้แป้ง 1 กิโลกรัม เอาไปทดลองขาย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราอยากให้คนทุนน้อยได้มีอาชีพ
ส่วนแฟรนไซส์มาตรฐาน 30,000 บาท ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้คีออส และอุปกรณ์ครบเซ็ต พร้อมการสอนสูตร และองค์ความรู้มากมาย เราก็ปรับความยืดหยุ่นให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถใส่ความคิด ไอเดียของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เช่นถ้าคุณอยากปรับแต่งเมนูให้เข้ากับกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ของคุณก็สามารถทำได้ไม่จำกัด เพราะตัวผู้ขายเองจะรู้ดีที่สุดว่าเมนูไหนขายดี เมนูไหนน่าจะพัฒนาต่อไปได้ และเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าสต็อกวัตถุดิบด้วย: มานะ ฮาดสุวรรณ ผู้บริหารแฟรนไชส์แบรนด์โลโซ โตเกียว (อ่านต่อ)