คนไทยเจ๋ง ‘คิด-ผลิต’ ครั้งแรกของโลก อุปกรณ์วัดตำแหน่งฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา


ผู้ประกอบการในโครงการ TED Fund ผลิตอุปกรณ์วัดกำหนดตำแหน่งก่อนการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเป็นผลงานของ รพ.สงขลาฯ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก พร้อมเตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปีนี้

นายชญานนท์ ลิ่มสกุล วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท วอเทอร์ป๊อก จำกัด บริษัทที่รับทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ของอุปกรณ์วัดตำแหน่งก่อนการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาแบบใช้แล้วทิ้ง หรือ Disposable Plastic Caliper (The study of Commercial feasibility of Disposable Plastic Caliper Used for Determine the Area and Marking Site for Intravitreal Drug Injection) จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ภายใต้โครงการ Research Gap Fund เปิดเผยว่า โครงการนี้จะสามารถสรุปผลและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปี 2562 ซึ่งจะทำให้วงการจักษุแพทย์มีโอกาสได้ใช้ Disposable Plastic Caliper ที่ผลิตและคิดค้นขึ้นโดยคนไทยเป็นครั้งแรกของโลก

“โดยปกติในการฉีดยาเขาน้ำวุ้นตาแต่ละครั้ง ต้องมีการวัดกำหนดตำแหน่งที่ปลอดภัยก่อนการปักเข็มด้วยอุปกรณ์ที่เป็นโลหะในระยะที่มีโอกาสเกิดอันตรายต่อเลนส์ตาและจอตา นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยในบ้านเราที่เข้าขอรับบริการต่อวันมีจำนวนมากถึง 50-60 รายต่อวัน แต่ caliper หรืออุปกรณ์วัดระยะมีอยู่เพียง 12 ตัว ไม่มีเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะต้องมีการฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังจากนำมาใช้งานกับผู้ป่วยแต่ละคนอีกทั้ง caliper โลหะก็มีราคาแพง คือ ตัวละประมาณ 8,000-10,000 บาท จากข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้บริษัทผลงานวิจัยของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาต่อยอด กระทั่งสามารถผลิตอุปกรณ์วัดระยะแบบใช้แล้วทั้งได้เป็นครั้งแรกของโลก”

นายชญานนท์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการนำอุปกรณ์ต้นแบบไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ทดลองใช้รวม 30 แห่ง และบริษัทเตรียมสรุปผลการทดลองใช้ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์แล้วนำออกจำหน่าย โดยเบื้องต้นจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ แล้วจึงจะหาลู่ทางในการขยายตลาดต่างประเทศต่อไป

ทั้งนี้การที่บริษัทเข้าขอรับทุนจาก TED Fund นั้น เพราะต้องการคำแนะนำในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และก็ได้มากกกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะ TED Fund จะมีให้ทั้งคำแนะนำ มีโครงการอบรม และที่สำคัญคือ มีเครือข่ายธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กว้างขวาง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังได้รับการดูแลจาก TED Fund เป็นอย่างดี