หากเป็นช่วงเวลาปกติปลายปีแบบนี้คงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนต่างจัดกระเป๋า วางแผนเดินทาง เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้กิจกรรม การใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ไวรัสโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง จนสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต้องพบกับวิกฤตแบบไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด มาฟังคำตอบจากปากนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกันเลย
สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ย่ำแย่หรือไม่?
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าย้อนกลับไปในปี 2562 ถือว่าเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทย โดยมีรายได้จากทั้งส่วนในประเทศ และต่างประเทศมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจำนวน 39.8 ล้านคน พอมาปี 2563 เราคิดว่าจะมีแรงส่งอย่างดีจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 6.7 ล้านคน มีรายได้ 3 แสนกว่าล้าน แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดการปิดน่านฟ้า
“จากเดิมเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละประมาณ 3 ล้านคน ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในเดือนตุลาคม 1,201 คนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าตัวเลขลดลงมาก” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายยุทธศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องการท่องเที่ยวภายในประเทศว่า โควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องหยุดอยู่บ้าน และกลับมาท่องเที่ยวกันได้จริง ๆ ประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งดีขึ้นตามลำดับ ก่อนจะมาเจอเหตุการณ์ที่เชียงราย เชียงใหม่ และที่สมุทรสาคร อย่างไรก็ดี ภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2563 ยังแย่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย 11 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ที่ 81 ล้านคน ซึ่งเดือนธันวาคมนี้คาดหวังที่จำนวน 15-18 ล้านคน และตลอดปี 2563 นี้จะไม่ต่ำกว่า 90 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 5 แสนล้าน อีกทั้ง เมื่อสรุปภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะมีรายได้ 832,000 ล้านบาท ลดลง 70-80% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป โดย UN พูดไว้อย่างชัดเจนว่าการเดินทางท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 70% และจะยังคงไม่ฟื้นตัวจนกระทั่งถึงไตรมาส 4/2564” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
รอแบบนานไปคงไม่ดี
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่าในมุมมองของ ททท. เราพยายามที่จะเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยความระมัดระวัง พร้อมกับนำนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเร็วกว่าทาง UN คาดการณ์ไว้หนึ่งไตรมาส
แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบในภาคส่วนของการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเรื่องนี้นายยุทธศักดิ์ เผยถึงแนวทางการช่วยเหลือว่า ททท.เป็นหน่วยงานด้านการตลาด สิ่งที่หน่วยงานจะทำให้คือนำนักท่องเที่ยวเข้า กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงกระตุ้นให้มีการพักค้างคืน เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวในลักษณะของ K Shape กล่าวคือบางอุตสาหกรรมสามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะในเชิงพื้นที่ เช่น จังหวัดเมืองรองที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนเท่าไหร่ ยกตัวอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีผู้คนเดินทางไปกันเยอะมาก แต่ในส่วนของเมืองหลักที่รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเยอะ ๆ หลายจังหวัดยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ยกตัวอย่าง “ภูเก็ต” ที่มีห้องพักโรงแรมเกือบ 1 แสนห้อง กลับมาเปิดจริง ๆ 15,000 ห้อง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบเลวร้ายอยู่
“สิ่งที่เห็นในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือพวกเขายังคงพยุงการจ้างงานไว้ เพื่อจะรอวันให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งในอดีตเราก็มีบทเรียน ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ, โรคซาร์ โดยทุกครั้งการท่องเที่ยวก็กลับมาได้” นายยุทธศักดิ์
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการที่อยากให้ช่วยเหลือ
นายยุทธศักดิ์ พูดถึงเรื่องนี้ว่าเสียงสะท้อนที่ได้รับคือแนวทางการช่วยเหลือยังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึงเท่าที่ควร ด้วยเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐฯ, ใบอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ต้องพยายามช่วยให้รอดผ่านช่วงเวลานี้ให้ได้เสียก่อน แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการเรียกร้องมา และให้การช่วยเหลือไป เช่น ลดค่าใช้จ่ายประกันสังคม, ค่าไฟฟ้า โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความเน้นย้ำว่าต้องช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับแผนระยะสั้นของ ททท. คือการเข้าไปกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าสู่โลก 3D
1. domestic
อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แต่สถานการณ์ตอนนี้เราเปิดประเทศไม่ได้ ดังนั้น จะทำยังไงที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจในตลาดในประเทศมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนมุมมองมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น
2. Digital
พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่ใช่แค่นำมาทำในเรื่องโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ในเรื่องความปลอดภัย, ความสะดวกในการเดินทาง
3. dynamic
เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการควรที่จะต้องเปลี่ยนความคิด โดยต้องมองว่าทุกอย่างจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม และไม่ควรทำอะไรแบบเดิม ๆ อีกต่อไป พร้อมกับเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นความยั่งยืน ซึ่ง ททท. พร้อมที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
“เส้นทางคนโสด” กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
“เส้นทางคนโสด” อีกหนึ่งโครงการที่กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศของ ททท. ซึ่งเป็นที่พูดถึง และได้รับความสนใจของใครหลายคนกับทริปการเดินทางที่มีความหลากหลาย โดยนายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า โครงการเส้นทางคนโสดเป็นการเน้นทำการตลาดในกลุ่มไทยเที่ยวไทยเหตุผลที่ต้องเป็นคนโสด คือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่มีภาระ สามารถจับจ่ายใช้สอยอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงจัดเส้นทางท่องเที่ยวขึ้นมาเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเดินทางภายในประเทศ
“โครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างดียิ่ง และมีเริ่มเดินทางไปบ้างแล้ว โดยตามรายงานที่ได้รับมาผู้เข้าร่วมต่างยิ้มแย้มแจ่มใส่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
อาจจะกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยพยุงธุรกิจภาคการท่องเที่ยวให้สามารถเดินต่อไปได้ คือการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยด้วยกันเอง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนต่อไปได้