เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน และเอเชีย โดยช่วงหลังมีประเด็นตั้งคำถามขึ้นมาว่าเวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วหรือยัง เรามาหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการอาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัมภาษณ์ผ่านรายการ SME ชนะว่า ผ่านทางแฟนเพจ Smartsme ว่าภาพรวมโดยทั่วไปเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทย โดยจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนของเวียดนามอยู่ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยต่อคน/ปี ของประเทศไทยอยู่ที่ 7,000 ดอลลารสหรัฐฯ ส่วนของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน/ปี เพราะฉะนั้นหากดูขนาดของเศรษฐกิจของเวียดนามจะมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศไทย
“หลายคนมองว่าในระยะสั้น 2-3 ปี เวียดนามจะแซงไทยได้หรือไม่ บอกตรงนี้เลยว่ายังไม่แซง แต่ระยะกลางถึงระยะยาวไม่แน่ เพราะเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาติดลบ ขณะที่เวียดนามเป็นบวก ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจยังโตเป็นบวกได้ เวียดนามมีอัตราการเติบเฉลี่ยปีละ 6-7% ส่วนไทยโต 1-2% ในช่วงเวลาที่ผ่านมา”
รศ.ดร.ปิติ กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบเป็นการวิ่ง แม้ว่าไทยจะนำเวียดนามอยู่ วิ่งได้ไกลกว่า แต่ลักษณะการวิ่งเริ่มอ่อนแรง ส่วนเวียดนามยังคงวิ่งอยู่ในอัตราคงที่ เพราะฉะนั้นหากไทยไม่เร่งพัฒนา ปรับตัว ในระยะกลาง ระยะยาว คงโดนแซงแน่นอน
ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามแซงไทย
รศ.ดร.ปิติ มองว่าปัจจัยที่ทำให้เวียดนามแซงไทยได้มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1.คุณภาพของคน
เวียดนามมีกำลังแรงงานที่ใหญ่กว่าไทย ด้วยขนาดประชากร 101 ล้านคน รวมถึงโครงสร้างทางด้านประชากรที่เป็นวัยรุ่น ขณะที่ได้ปี 2020 ที่ผ่านมาไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น เวียดนามไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน แต่ไทยขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งในเรื่องของสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของคนเวียดนามในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนมีความแข็งแกร่ง ขยัน อดทน พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด และมีแนวคิดว่าการทำงานหนักจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้
เช่นเดียวกับในเรื่องการศึกษา จะพบว่าเวียดนามพัฒนาไปไกลมาก หากไปดูผลสอบ TSA ที่ทดสอบนักเรียนระดับชั้น ม.2-ม.3 จะเห็นว่าเวียดนามเป็นอันดับอันดับต้น ๆ ของอาเซียน และติด Top 10 ของโลก การที่เวียดนามลงทุนเยอะในเรื่องของการศึกษา บวกกับคาแรคเตอร์ส่วนตัว และโครงการสร้างทางประชากรศาสตร์ เลยเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เวียดนามมีคนที่มีคุณภาพ
2.ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส
ทุกครั้งที่เศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในช่วงขาลง สิ่งที่พวกเขาทำคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น ในปี 1985-1986 มีการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่า “โด่ย เหมย” โดยนำกลไกการตลาดเข้ามา เริ่มเปิดประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าสู่โอกาสใหม่ ๆ เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พอมาถึงทศวรรษ 1990 สิ่งที่เวียดนามเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย คือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หลังจากนั้นมาในปี 2007-2015 มีการทำ “Regulatory กิโยติน” ซึ่งเป็นการปรับกฎหมายในเรื่องที่ล้าสมัยทิ้งไป, รวบกฎหมายที่คล้ายคลึงกันให้มาอยู่ในฉบับเดียวกัน, กฎหมายที่ดีอยู่แล้วดำเนินการต่อ และกฎหมายอะไรที่ยังไม่มี แต่จำเป็นก็เขียนขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กฎหมายของเวียดนามจะมีความทันสมัย อยู่ในธรรมาภิบาล ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศ ช่วยประหยัดการลงทุนให้กับภาคเอกชนปีละประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.สร้างแต้มต่อทางการค้า
เวียดนามสร้างแต้มต่อทางการค้ากับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนผ่านทางการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี หรือข้อตกลงการค้าเสรี โดยเวียดนามกับไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนฉบับใกล้เคียงกัน โดยไทยมี 14 ฉบับ กับ 16 ประเทศ ส่วนเวียดนามมี 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลง RCEP, ข้อตกลง CPTPP ที่จะเชื่อมห่วงโซ่อุปทานระหว่างเอเชียกับอเมริกา, ข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป EAEU ส่วนไทยยังไม่มี ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยทำงานหนักมากในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปออกมาดีที่สุด แต่ติดปัญหาเรื่องกระบวนการที่ยังค่อนข้างช้าอยู่
4.การปกครอง
การปกครองของเวียดนามเป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีประชาธิปไตยไม่เหมือนกับที่เราตีความ โดยเวียดนามมีรัฐบาลลักษณะอำนาจนิยม เพียงแต่รัฐบาลอำนาจนิยมของเวียดนามสามารถสั่งการได้ ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง และมีการปราบโกงมาโดยตลอดอย่างจริงจัง ประชาชนเชื่อมั่นในระบบ เชื่อมั่นในรัฐบาลว่าจะสามารถทำให้ประเทศเติบโตได้
จากที่กล่าวมาจึงทำให้เวียดนามถูกจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน และเอเชีย