ลบคำสบประมาท สู่ “ชานมกระบอก” ปั้นแฟรนไชส์ 2 ปี โตกว่า 100 สาขา


จากจุดเริ่มต้นที่หลาย ๆ คนไม่เห็นด้วย กับการทำธุรกิจ แต่ปัจจุบันกลายมาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ กว่า 100 สาขา ในระยะเวลา 2 ปี

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Smartsme ขอเล่าเรื่องราวของคุณวรากร ทองเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท มีความสุข จำกัด ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เรามาอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจนี้กัน

จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ
คุณวรากร ทองเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท มีความสุข จำกัด เล่าว่าเดิมทีตนเป็นวิศวกรปิโตรเลี่ยม อยู่ตำแหน่งผสม คล้าย ๆ กับการผสมชานม ตอนนั้นตนตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจชานม แต่หลาย ๆ คนก็ไม่เห็นด้วย เพราะว่าวิศวกรปิโตรเลี่ยมเป็นอาชีพที่รายได้ดี แต่ตนก็ยังเดินหน้าที่จะเปิดธุรกิจ เพราะมีความรู้อยู่แล้ว เลยนำมาประยุกต์ในการทำธุรกิจชานม

ใช้เงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน

คุณวรากร เล่าว่าในช่วงแรกที่ทำธุรกิจ เราไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย เราลงทุนกับแรงมากกว่าลงทุนกับเงิน เราใช้เงิน 1 แสนบาท กับ 10 สาขาที่เราสร้างขึ้นมา หลายคนค่อนข้างเซอร์ไพรส์ว่า เงิน 1 แสนบาท คุณทำได้ยังไง

“ เงิน 1 แสนบาทในวันนั้น มันไม่เสียเปล่าในวันนี้” คุณวรากร กล่าว

ทำไมต้องเป็นชานมกระบอก

คุณวรากร เล่าต่อว่า ตนคิดว่าการที่จะมีโปรดักส์อะไรสักอย่างที่จะเกิดขึ้นในตลาดมันต้องมีความแตกต่าง และที่สำคัญต้องไม่เหมือนใคร ปกติชานมเขาจะใสแก้ว แต่ของเราใส่กระบอกคงไม่เหมือนใคร ตรงนี้เลยเป็นจุดขาย

ทำไมต้องใช้ชื่อแบรนด์ว่า “มีความสุข”

คุณวรากร เผยว่า เวลาที่มีใครมาหา มาเจอเราแล้วมีความสุข เราอยากให้คนรับความสุขนี้กลับไปด้วย โดยเฉพาะตอนที่เราทำเครื่องดื่มชา เราทำแล้วเราไม่เบื่อ ทำแล้วมีความสุข จนอยู่มาได้ถึง 2 ปี เราเลยใช้ชื่อว่ามีความสุข เพราะว่าอยากส่งต่อความสุขให้กับคนที่ได้ดื่มชานมของเรา

รายได้ต่อเดือน

คุณวรากร เผยต่อว่า ตอนนี้เรามีทั้งหมด 100 กว่าสาขา แต่ละสาขาก็ขายได้มากน้อยแตกต่างกันไป เฉลี่ยประมาณ 200 กระบอกต่อวัน หรือพีคสุด 700 กระบอกเราก็เคยขายได้มาแล้ว รายได้แต่ละสาขาอยู่ประมาณ 6 หลักต่อเดือน

ผลตอบรับเป็นอย่างไร

คุณวรากร อธิบายว่า วิธีการสำรวจผลตอบรับจากลูกค้า เราจะไปอ่านจากคอมเมนท์จริง ๆ ที่เขามาคอมเมนท์ในเพจเรา มันเป็นกำลังใจที่ดีมาก เพราะเป็นคอมเมนท์จากลูกค้าที่เขามาดื่ม หรือมาใช้บริการของเราจริง ๆ ซึ่งกระแสตอบรับกล้าพูดได้เลยว่า เกิน 98 % ไปในทิศทางที่ดี

เคล็ด (ไม่)ลับ ในการทำธุรกิจ

คุณวรากร ทิ้งท้ายกับคำถามนี้ไว้ว่า ส่วนตัวผมเป็นคนที่คิดมาก คิดเยอะ แต่คิดด้วยการไตร่ตรอง นอกจากการคิดแล้วสิ่งที่สำคัญคือการลงมือทำ ถ้าคิดแล้วไม่ทำสิ่งที่คุณคิดก็ไม่เกิดประโยชน์ ผมเป็นคนคิดเยอะ แต่ผมจะลงมือทำมากกว่าที่ผมคิด

“ในการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ มันยากเสมอ ครั้งแรกจะเป็นบทเรียน แต่เราจงเอาบทเรียนนั้นมาแก้ไขและพัฒนาใหม่ จากความผิดพลาดจะกลายเป็นความสำเร็จ” คุณวรากร กล่าว