ตลาดไท

เปิดโมเดลใหม่ “ตลาดไท” สะดวก ครบจบ ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย

ตลาดไท ชื่อนี้คนไทยคุ้นชินได้ยินมาเป็นระยะเวลามานานกว่า 30 ปี กับความเป็นตลาดกลางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำหน่ายทั้งผัก ผลไม้ อาหารสด และดอกไม้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการคงอยู่กับบริการเดิม ๆ ก็ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายอีกต่อไป

ดังนั้น การหาบริการที่ครอบคลุม แก้ปัญหาที่เคยมีมาจึงเป็นคำตอบในเรื่องนี้ โดยวันนี้ตลาดไทปรับธุรกิจใหม่ เพิ่มบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ที่เรียกได้ว่าครบจบที่ตลาดเดียว

คุณวิศรุต ศรีโรจนกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจ ตลาดไท เผยถึงที่มาที่ไป จากเดิมเราให้บริการแบบพื้นที่ นำที่ดินมาสร้างอาคารทำเป็นตลาด กั้นแผง ปล่อยเช่า เรียกว่าเป็นบริการแบบดั้งเดิม โดยมีแม่ค้านำสินค้ามาจำหน่าย ตลาดแค่ดูแลทำความสะอาดห้องน้ำ การเก็บขยะ ที่จอดรถ รักษาความปลอดภัย ซึ่งก็ไม่ทำอะไรมากกว่านั้น แต่หากมองในเชิงห่วงโซ่อุปทานจะพบว่ามีอะไรมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งสินค้าที่เข้าและออกจากตลาด

 

 

“เราไม่ต้องการเป็น Place Provider แต่ต้องการเป็น Service Provider มองหาบริการที่ตลาดสามารถเข้าไปให้บริการแก่ผู้ขาย ผู้ซื้อได้ โดยไม่กระทบต่อการค้าขาย แต่ช่วยให้การค้าขายสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น” คุณวิศรุต เล่า

คุณวิศรุต เล่าต่อว่าที่ผ่านมาเราดีไซน์ตลาดไทเป็นพื้นที่ของ “ผู้เช่า” คือคนที่ให้ค่าเช่า เมื่อเป็นนี้ทำให้เราสนใจแต่ผู้เช่าว่าการค้าขาย พวกเขาต้องการอะไร พอวันนี้เราคงบอกว่าลูกค้าของเราเป็นผู้เช่าอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองลูกค้าอีกด้านหนึ่งคือ “ผู้ซื้อ” เพราะทั้งสองส่วนต้องเกื้อกูลระหว่างกัน

“ถ้ามีผู้ซื้อ ผู้เช่าก็อยู่ได้ ถ้าผู้ขายขายของไม่ได้ ผู้ขายจะไม่จ่ายค่าเช่าเรา ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน” คุณวิศรุต เล่า

นี่จึงเป็นที่มาของ 3 บริการที่จะเข้ามาตอบโจทย์การค้าขาย เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้น ได้แก่

1.บริการแรงงาน: ย้อนกลับไปสมัยก่อนเวลาแม่ค้ามีสินค้าส่งมาจากสวนมายังแผง ลองนึกภาพมีแม่ค้าอยู่ 1 คน, มีลูกมือ 2 คน, คนขับรถที่นำสินค้ามาส่ง 1 คน แต่สินค้าที่มาส่งพบว่ามีจำนวนปริมาณที่มาก มันเป็นไปไม่ได้ที่คน 4-5 คน จะช่วยจัดการ ที่ผ่านมาจะมีการตุนแรงงานไว้ที่แผงประมาณ 10 คน ไว้ทำหน้าที่ขนสินค้า หากไม่มีสินค้ามาส่งแรงงานเหล่านี้ก็จะไม่มีอะไรทำ

จากปัญหาที่พบตรงนี้จึงนำมาสู่บริการแรงงาน โดยจะอยู่ในส่วนกลาง ถึงเวลาสินค้ามาส่งก็โทรศัพท์เรียกแรงงานมาทำหน้าที่ยกของ โดยจะทำให้ประหยัดเวลา รถขนส่งเข้า-ออกได้เร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการค้าขาย

2.บริการขนส่ง: จากเดิมพ่อค้า-แม่ค้าจะต้องจำหน้าคนขับรถ มีทั้งแบบขาประจำ-ขาจร โดยเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเวลาจะขนส่งแต่ละครั้ง ซึ่งตลาดได้สร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้นมา มีคนขับรถที่พร้อมให้บริการกว่า 1,000 คน ขอแค่แจ้งเข้ามาว่าต้องการรถขนส่งที่แผงนี้ เวลากี่โมง มีจุดหมายปลายทางการส่งที่ไหน นึกภาพเหมือนเรียกแท็กซี่ ผู้ขายไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะหาคนส่งสินค้าไม่ได้

3.บริการ Food Service: จัดเตรียมสินค้าให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยสามารถเลือกซื้อผ่านตลาด หรือจะให้ช่วยแพคแพคเกจจิ้งในสินค้าบางอย่าง

 

 

คุณวิศรุต ขยายความต่อว่าเราต้องการบริการที่สร้างความสะดวกสบาย คุ้มค่า ครบ ให้กับผู้ซื้อ โดยทุกบริการที่ออกไป พบว่ามีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น บริการขนส่งที่มีคนขับอยู่ในระบบเป็น 1,000 คน ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการอยู่แล้ว หากไม่มีงานคงไม่จำนวนถึงขนาดนี้

เช่นเดียวกับบริการ Food Service ที่มีลูกค้าเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งให้แพคของส่งไปยังห้างโมเดิร์นเทรด, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย ตลอดจนตลาดสด ที่ต้องการสินค้า

คุณวิศรุต สรุปทิ้งท้ายว่าทำไมต้องมาขายที่ ตลาด ไทว่า พื้นที่แห่งนี้เหมือนหน้าร้านแห่งหนึ่งที่ผู้ซื้อมีหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ไซส์เล็กไปจนถึงไซส์ใหญ่ หากมาค้าขายที่นี่ก็จะเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างการรับรู้สินค้าที่ทำอยู่ออกไป เราทำหน้าที่ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมาเจอกันได้อย่างหลากหลาย

การทำธุรกิจเราไม่อาจอยู่อะไรเดิม ๆ ได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับตลาดแห่งนี้ที่ปรับตัว สร้างบริการใหม่ เพื่อตอบโจทย์การค้าขายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง