ปัญหาธุรกิจครอบครัว พ่อกับน้องชายไม่เข้าใจกัน สู่การเขียนหนังสือฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่
ปัญหาของธุรกิจครอบครัวถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าธุรกิจทั่วไป ด้วยความที่อยู่มาด้วยกัน แต่มาวันหนึ่งต้องมาทำงานร่วมกัน ด้วยปัจจัย บริบทที่ไม่เหมือนกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กรอบแนวคิด วิธีการทำงานแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่นจนนำมาสู่ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันในที่สุด
เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นกับคุณพราวพร ครุฑเวโช ทายาทรุ่นที่ 2 บจก.ตะวันทิพย์ ฟูดโปรดักส์ โดยเป็นธุรกิจครอบครัวทำโรงงานผลิตซีอิ๊ว ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่เข้าใจกันไม่ได้เกิดกับตัวเอง แต่เป็นคุณพ่อกับน้องชายที่ดูจะเป็นจุดแตกหักได้หากปล่อยไว้นานคงไม่ใช่เรื่องดีจึงต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาไม่ให้เลยเถิดไปมากกว่านี้
คุณพราวพร ครุธเวโช เล่าว่าคุณพ่อทำธุรกิจโรงงานแบรนด์ “ตะวันทิพย์” ซีอิ๊วหมักโอ่งมาก่อน เรียกว่าเป็นธุรกิจครอบครัว ตนเป็นลูกสาวคนโต พอเรียนหนังสือจบได้เข้ามาทำงาน โดยคุณพ่อว่าอย่างไร ก็ทำตามอย่างที่บอก ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอมาเริ่มรู้สึกตัวตอนที่น้องชายเข้ามาทำรับงานต่อในโรงงาน ด้วยความที่เขาเป็นตัวของตัวเอง จบการศึกษาระดับสูง เป็นเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง ทำให้มีความเห็นไม่ตรงกับคุณพ่อ
“เหมือนคุณพ่อก็มีประสบการณ์ของตัวเองจากที่เคยพบเจอมา แต่พ่อน้องชายเข้ามาเริ่มไม่ลงรอย มีความเห็นแตกต่างกันในทุกๆ เรื่อง เกิดการทะเลาะกันทุกวัน” คุณพราวพร เล่า
คุณพราวพร เล่าต่อมาแม้ตอนเวลารับประทานอาหารทั้งคู่ที่จะคุยเรื่องงานกัน ปรากฏว่ามีการทะเลาะกันอีก ตนเลยรู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ใช่แล้ว เลยต้องหาทางแก้ปัญหา ทำอะไรสักอย่าง จึงตัดสินใจไปสอบถามเพื่อนที่ทำธุรกิจโรงงาน, ธุรกิจส่วนตัวในเชิงครอบครัวเหมือนกัน ว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาเหมือนกันหรือเปล่า เหมือนไปปรับทุกข์มากกว่า ซึ่งคำตอบที่ได้รับพบว่ามีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน
“แต่ละบ้านจะมีปัญหาคล้ายๆกัน เลยไปสัมภาษณ์เพื่อนแต่ละคน ในแต่ละธุรกิจ ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจึงขยับไปสู่การสัมภาษณ์รุ่นพี่ที่สามารถแก้ปัญหาความเห็นต่างของการทำธุรกิจ ครอบครัว ถึงเทคนิคการแก้ปัญหา ทำให้ได้ข้อมูล ข้อคิดมา” คุณพราวพร เล่า
หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือพนักงานเดิมที่เห็นเราตั้งแต่เกิด อยู่มาวันหนึ่งเราต้องขึ้นมาบริหาร แต่มุมมองของพวกเขาที่ยังมองว่าเรายังเด็กอยู่ คิดว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ตลอดจนวิธีการตัดสินใจว่าจะให้พนักงานเก่าทำงาน หรือจ้างพนักงานใหม่เข้ามา
คุณพราวพร พูดถึงปัญหาของครอบครัวของตนเองว่า คุณพ่อพูดแล้วน้องไม่ฟัง เลยพาคุณพ่อไปหาเพื่อน พบว่าเวลาเพื่อนพูด คุณพ่อจะฟัง จากจุดสังเกตนี้ จึงเกิดไอเดียรวบรวมข้อคิดจากหลาย ๆ แบรนด์ที่สัมภาษณ์จากโรงงานต่าง ๆ มาทำเป็นหนังสือฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่ แล้วนำกลับไปให้คุณพ่ออ่าน เช่นเดียวกับน้องที่นำไปให้อ่านเหมือนกัน ทำให้ทั้งสองคนได้ปรับตัวเข้าหากันว่าควรจะคิดแบบนี้ สื่อสารแบบนี้ ใช้เทคนิคแบบนี้
“เนื้อหาในหนังสือจะแบ่งเป็น 2 ตอน คือ คำสรุป ในเรื่องที่สัมภาษณ์มาทั้งหมดว่าแต่ละขั้นตอน 1 2 3 4 ต้องทำอะไร ส่วนด้านหลังจะเป็นบทสัมภาษณ์ของคนที่เราไปปรึกษา มีทั้งหมด 20 บาทสัมภาษณ์”
เรียกได้ว่าหนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคู่มือเบื้องต้นของผู้ที่ทำธุรกิจครอบครัว ให้รู้ว่ายังมีคนที่เป็นเหมือนคุณอยู่ คุณพราวพร พูดถึงเหตุผลที่เขียนหนังสือขึ้นมาว่า แค่อยากให้พ่ออ่าน และก็อ่านจริง จากเดิมที่พูดคุยกันแต่มีทะเลาะตลอด ทำให้สิ่งที่สื่อสารไปยังไม่ถึง ดังนั้น “หนังสือ” น่าจะเป็นทางออกที่ดี
“พอพ่ออ่านจบ ทำเนียน ไม่พูดอะไร แต่ได้มีการปรับ ลดความรุนแรงลง ส่วนน้องชายได้พาไปสัมภาษณ์ด้วยกันทำให้มีความเข้าใจกัน” คุณพราวพร เล่า
ดูเหมือนว่าหนังสือจะกลายเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งคุณพ่อ และน้องชายให้กลับมาดีอีกครั้ง ปัจจุบันทั้งคู่ยังทำงานร่วมกัน โดยคุณพ่อรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ส่วนน้องชายดำเนินธุรกิจเต็มตัว โดยคุณพราวพรมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างระหว่างวัย คนแต่ละช่วงอายุเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้การสื่อสาร ลักษณะการพูด ต่างกันโดยสิ้นเชิง พอมาอยู่ร่วมกันจึงเกิดความไม่ลงรอย
“ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ เปิดใจฟัง หาความรู้ มีความเคารพ เข้าใจบริบทซึ่งกันและกัน หนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้ว่ายังมีคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน อาจไม่ได้ตอบคำถามได้ทั้งหมด แต่คอยเป็นเพื่อนคู่คิดได้” คุณพราวพร เล่า
สำหรับแบรนด์ “ตะวันทิพย์” เป็นโรงงานผลิตซีอิ๊วมาเป็นระยะเวลา 46 ปี โดยในช่วงรุ่นคุณพ่อจะเน้นธุรกิจแบบ B2B ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวเชื้อในการผลิตสินค้าขายให้กับโรงงานอื่น ๆ ซื้อไปผสมในการทำน้ำสลัด, น้ำจิ้ม ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปทำเป็นวัตถุดิบ หลังจากทายาทรุ่นต่อมาเข้ามาบริหารเต็มตัว เลยเปลี่ยนมาทำแบรนด์ดิ้ง มีการบรรจุลงขวดเล็ก แตกไลน์ธุรกิจออกมาในช่วง 2-3 ปีหลัง
ความพิเศษของซีอิ๊ว “ตะวันทิพย์” ด้วยความที่ทำหลังบ้านมาตลอด สินค้าของแบรนด์จะไม่มีการปรุงแต่ง โดยจะมีการหมักในโอ่งมังกร พอถึงเวลาจะนำมาใส่ขวดทันที มีความออริจินัลแบบสมัยโบราณ ต่างจากซีอิ๊วทั่วไปที่มีการปรุงแต่งรสชาติเป็นของตัวเอง ทั้งเติมกลิ่น สี น้ำตาล เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์
ใครที่อยากหาซื้อซีอิ๋วแบรนด์ “ตะวันทิพย์” สามารถหาซื้อได้ที่เลม่อนฟาร์ม ส่วนหนังสือมีวางจำหน่ายสามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือ Se-ed book
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ