ในยุคที่ทุกอย่างมีความท้าทาย ความแน่นอนอยู่บนความไม่แน่นอน เกิดการ Disruption ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในแนวทางของคุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ความเป็น Smartsme และเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรม Next Gen Industry แห่งอนาคต
แน่นอนว่าในยุคนี้หากธุรกิจไม่ปรับตัว ยังทำอะไรแบบเดิม ย่อมตกหล่นระหว่างทางที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วอะไรคือทางการที่จะเป็นกุญแจไขประตูไปสู่ความอยู่รอด เรามาฟังแนวคิดนี้กัน
คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล พูดถึงสิ่งที่สำคัญของปัญหาประเทศไทย และของโลก คือ “ความท้าทาย” มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ทุกคนต้องปรับตัว, ปัญหาสงครามการค้า ตั้งแต่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี หรือที่เรียกว่า ทรัมป์ 1.0 ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องการค้า ระเบียบโลก ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด วันนี้ไม่มีเรื่องโลกาภิวัตน์แล้ว, เรื่องการย้ายฐานการผลิต ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ, เรื่องสงครามภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้
“ปัญหาความท้าทายทั้งหลาย สิ่งที่เกิดผลกระทบต่อไทยในฐานะที่เราเองก็มีปัญหาหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การตกอยู่กับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน ที่ยังไม่หลุดกับดักนี้ก้าวไปสู่ประเทศมีรายได้สูง เช่นเดียวกับสังคมผู้สูงอายุที่ไทยก้าวเข้าสู่อย่างสมดุล” คุณเกรียงไกร กล่าว
เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในรอบหลายปี โดยเฉพาะ GDP ที่เติบโตต่ำไม่ถึง 2% นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเกิดคำถามชวนคิดว่า ประเทศไทยจะเดินต่ออย่างไร
ย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยพึ่งพารายได้หลัก คิดเป็น 60% ของ GDP มาจากภาคการส่งออก ส่วนที่เหลือมาจากภาคบริการ เช่น ท่องเที่ยว แต่หากมาดูอย่างละเอียดในช่วงเกิดวิกฤตต่าง ๆ แม้ว่าเราจะส่งออกมหาศาล และหลงไปกับตัวเลขการส่งออก แต่เมื่อลงลึกจริง ๆ แล้ว ประเทศไทยได้รับเงินที่อยู่ในกระเป๋าคนไทยไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นรับจ้างผลิต หรือ OEM เป็นหลัก
คุณเกรียงไกร มองว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปหมด มีคู่แข่งเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม, อินโดนีเซีย และอีกไม่นานจะมีฟิลิปปินส์ที่ตามมา เพราะฉะนั้นเป็นโจทย์ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่จะต้องหาวิธีการแข่งขันอย่างไร ในเมื่อโรงงานที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างประเทศจีนผลิตสินค้าได้ทุกประเภท ในราคาที่ถูกมาก ทำให้การผลิตทุกอย่างได้เปลี่ยนไป
เกษตรอุตสาหกรรมทางออกที่แท้จริง
เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ในโมเดลธุรกิจที่เคยมีอยู่ ปรากฏว่ายิ่งทำ คนยิ่งจนลงเยอะ โดยเฉพาะช่องว่างระหว่าง “คนรวย” กับ “คนจน” รวมการกระจายรายได้ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะมีคนรวยคิดเป็น 1% ส่วนประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตรที่เป็นคนส่วนใหญ่กลับมีสถานะที่สวนทางกัน กลายเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นหนี้ครัวเรือนที่ตัวเลขอยู่ที่ 90% ของ GDP
“ผมและทีมงานได้เสนอแนวทางที่จะก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ คือการทำเกษตรอุตสาหกรรม”
คุณเกรียงไกร ขยายความว่าประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าจะทำอย่างไรเพื่อหาสินค้าที่เป็นจุดแข็ง สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทุกคนให้อยู่ดี กินดี และยั่งยืน
เราได้เห็นนโยบาย Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ที่เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเคยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหยิบจุดนี้มาขยายผล เพราะนี่คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประเทศไทยที่แข่งขันได้ และเป็นความต้องการแท้จริงของโลก
“ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ แต่อุตสาหกรรมที่ไปได้ดีคืออุตสาหกรรมทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวกับอาหาร โดยการส่งออกของประเทศไทยช่วงหลัง แม้จะมีสงคราม หรือปัญหาที่ไหนก็ตาม แต่สินค้าทางการเกษตรไทยโตวัน โตคืน เพียงในวันนี้ต้องเสริมวิทยาการเข้ามา นำวัตถุดิบทางด้าน BIO เข้ามาให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดโครงการที่เรียกว่า flagship ชื่อว่า smart agriculture Industry หรือแปลเป็นไทยว่าเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยเทรนด์ของโลกมีความต้องการความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจจะมองได้ว่านี่เป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างแท้จริง
คุณเกรียงไกร เพิ่มเติมว่าเราได้นำร่องโครงการครอบคลุม 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรม BIO ที่นำไปผลิตยารักษาโรค ซึ่งตอนนี้เรามีสมุนไพรชั้นนำทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถรักษาสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในประเทศ เห็นได้จากกรณีคนอื่นนำสมุนไพรไทยไปจดสิทธิบัตร โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยาที่นำเข้าในแต่ละปีจำนวนมหาศาลมาจากการสกัดสมุนไพรไทยเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยาที่มีอยู่ในประเทศเป็นเพียงแค่การรับจ้างผลิต นำเข้า ตอกเม็ด และบรรจุขวด แต่ตอนนี้กำลังมองว่าจะทำอย่างไรให้มีตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ และปลายน้ำ จนเป็นอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า สามารถสร้างมูลค่าในการขายสินค้า 1 ตัว โดย 100 บาท จะอยู่ในกระเป๋าคนไทยมากกว่า 95 บาท
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรม BIO ที่นำมาทำเครื่องสำอาง ปัจจุบันเครื่องสำอางมีมูลค่าเพิ่มสูงมาก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค, อุตสาหกรรม BIO เกี่ยวกับอาหารเสริม โดยต้องยอมรับว่าตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา ทั่วโลกให้ความสนใจกับสุขภาพมาก อาหารเสริมมีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการ รวมถึงส่งออกได้ดีด้วย, future food หรืออาหารแห่งอนาคตที่กำลังต้องการโปรตีนที่มาจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ เรื่องนี้ประเทศไทยสามารถผลิตได้มากมาย, พลังงานเอทานอล ที่ประเทศไทยมีพืชจำนวนมากที่สามารถผลิตได้ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ, ไบโอพลาสติก ซึ่งมีประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาการย่อยสลาย, BIO เส้นใยที่มาทำเสื้อผ้าต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอตอนนี้กำลังถูก Disrupt ไม่สามารถแข่งขันได้ โดยการมีเส้นใยจากธรรมชาติจะถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน และท้ายสุด Biochemical
คุณเกรียงไกร ทิ้งท้ายว่า 8 อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมนำร่องที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไป โดยเราจะทำ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำได้ด้านนี้ และนี่อาจจะเป็นการกระจายรายได้ที่ดีที่สุด ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
“เราฝันว่าวันหนึ่ง ลูก ๆ หลาน ๆ ที่พ่อแม่ส่งไปเรียนในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ ๆ มักไม่กลับมาทำเกษตร เหลือแต่ผู้สูงอายุ กับเด็กที่ทำ ไม่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้การเทคโนโลยี เราจึงหวังว่าถ้าทำสำเร็จจะเป็นต้นแบบดึงดูดให้ลูก ๆ หลาน ๆ กลับเข้ามาร่วมพัฒนา นี่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยต่อไป
เรื่องอีกมุมที่ไม่เคยรู้
อีกเรื่องที่คนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับคุณเกรียงไกรคือด้านการบริหารธุรกิจส่วนตัวที่ได้พัฒนากิจการครอบครัวโรงพิมพ์ “นิวไวเต็ก” ให้เป็นธุรกิจการพิมพ์แถวหน้าของเมืองไทย ขยายตลาดไปสู่องค์กรแถวหน้าหลายแห่ง จึงทำให้ได้รับตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์หลายสมัย