แนะทางรอดมหาวิทยาลัย ในยุค AI ดิสรัปชั่น
January 10, 2025 January 10, 2025
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลรายงาน “Future of Jobs 2025” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับเกียรติเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ร่วมมือกับ World Economic Forum ในการวิเคราะห์และเสนอแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานระหว่างปี 2568–2573
ข้อมูลสำคัญจากรายงาน Future of Jobs 2025 รายงานนี้ได้สำรวจข้อมูลจาก 1,000 บริษัทที่มีพนักงานรวม 14 ล้านคนใน 22 อุตสาหกรรมจาก 55 ประเทศทั่วโลก พบว่า
ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่งจะเกิดขึ้น จากผลกระทบของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม
ตำแหน่งงาน 92 ล้าน ตำแหน่งจะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
การเติบโตสุทธิของการจ้างงาน จะเพิ่มขึ้น 7% หรือประมาณ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก
แม้บางงานจะถูกดิสรัปโดยเทคโนโลยี แต่ลักษณะงานจะถูกปรับให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ต้องการแรงงานที่มีทักษะรอบด้านและสามารถใช้งาน AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้อย่างชำนาญ
5 ปัจจัยสำคัญที่กำหนดตลาดแรงงานในปี 2573
เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก – AI, หุ่นยนต์ และนวัตกรรมพลังงานเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงทักษะที่จำเป็น
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง – ความต้องการพลังงานหมุนเวียนและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้น
เศรษฐกิจผันผวน – ความไม่แน่นอนด้านการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นความท้าทายหลัก
การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร – แรงงานในประเทศพัฒนาแล้วลดลง แต่ในประเทศกำลังพัฒนากลับเพิ่มขึ้น
ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ – การเมืองและการค้าระหว่างประเทศส่งผลต่อรูปแบบการจ้างงาน
5 ทักษะที่องค์กรไทยต้องการมากที่สุด ในปี 2573
การใช้งาน AI และ Big Data
การคิดเชิงวิเคราะห์
การคิดสร้างสรรค์
ความรู้ด้านเครือข่ายและความปลอดภัยไซเบอร์
ความเป็นผู้นำและความสามารถในการสร้างอิทธิพลทางสังคม
ในระดับโลก ทักษะ AI และ Big Data รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ยังคงเป็นที่ต้องการสูงเช่นเดียวกัน
แรงงานไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับอนาคต
ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อใช้งาน AI ขณะที่ในระดับโลกเน้นการพัฒนาความปลอดภัยของข้อมูลและการต่อยอด AI ไปไกลกว่านั้นแล้ว การ Reskill และ Upskill จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ที่รวมความรู้จากหลากหลายศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน “สิ่งเดียวที่ชนะ AI ได้คือปัญญาสัญชาตญาณ” – ความสามารถในการเข้าใจโลกและทำสิ่งต่างๆ อย่างชำนาญจากประสบการณ์
บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัย
ดร.วิเลิศย้ำว่า การศึกษาแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลา 2-4 ปีอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาทเป็น “Skill Incubator” โดยเน้นหลักสูตรระยะสั้นแบบ Non-degree ที่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน แต่ตอบสนองความต้องการแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมถ่ายทอดความรู้ด้วยเทคโนโลยี AI และมุ่งบ่มเพาะความสามารถที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล “มหาวิทยาลัยต้องสอนให้คนคิดเป็น เพราะความรู้ล้าสมัยได้ แต่ความฉลาดไม่มีวันล้าสมัย” ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรปริญญา (Degree) หรือหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree) บทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัยคือการสร้างคนที่มีความรู้ ความฉลาด และทักษะที่พร้อมสำหรับโลกแห่งอนาคต