สงครามส่งด่วน

ซีรีส์ “สงครามส่งด่วน” ดูแล้วได้อะไร สะท้อนเรื่องไหนในธุรกิจจริง?

ชั่วโมงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงไปกว่าซีรีส์ “สงครามส่งด่วน” บน Netflix โดยเป็นเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้ง Flash Express สตาร์ทอัพบริการด้านโลจิสติกส์จัดส่งพัสดุชั้นนำ และเป็นยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย ที่ถูกนำมาถ่ายทอดในครั้งนี้

 

โดยซีรีส์เล่าเรื่องของ “สันติ” ผู้ประกอบการหนุ่มที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนชีวิตคนดอย สู่โลกของการส่งพัสดุด่วนที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน แต่ก็ต้องเผชิญเรื่องราวที่ไม่คาดคิดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การโดนหักหลัง, ธุรกิจที่แข่งขันดันอย่างดุเดือด มีการเดิมพันที่ค่อนข้างสูง หากตัดสินใจผิดพลาดอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้

 

 

 

แน่นอนว่าซีรีส์เรื่องนี้ให้ข้อคิดกับการเป็นผู้ประกอบการ หรือคนที่อยากจะก้าวเข้ามามีธุรกิจของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยสรุปออกมาเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้ว่า “สงครามส่งด่วน” ดูแล้วได้อะไร

 

  1. มุมต่อสู้ดิ้นรน

ตัวละครที่ชื่อ “สันติ” มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก เป็นเด็กดอย อาหารที่มีคุณค่ามากที่สุดของเขา คือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ด้วยสถานะตรงนี้ทำให้เกิดการดิ้นรนที่จะยกระดับตัวเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงไม่ยอมแพ้ มีงานอะไรทำหมด ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

 

  1. มองเห็นโอกาส

โอกาสมีอยู่รอบตัวเสมอ อยู่ที่ว่าจะมองเห็นหรือไม่? เราเคยได้ยินประโยคที่ว่า ถ้าเห็นปัญหา = เห็นโอกาส “สันติ” เห็นปัญหาเรื่องของการจัดส่งพัสดุในไทยที่ค่อนข้างแพง เริ่มต้น 50 บาท แต่เมื่อเขาไปเมืองจีนกลายเป็นว่าราคาจัดส่งถูกกว่ามาก จึงศึกษาวิธีว่าทำไมบริษัทจีนถึงทำได้ และมองถึงความเป็นไปได้ที่จะมาเปิดในไทย เพราะยังไม่มีใครเคยทำ

 

3.การเจรจาพูดคุย

สิ่งสำคัญของการเป็นนักธุรกิจคือต้องมีทักษะการเจรจา เพื่อโน้มน้าวใจให้นักลงทุน หรือคนที่เกี่ยวข้องคล้อยตามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทำไม่ต้องทำ ทำแล้วได้ผลลัพธ์อะไร รวมถึงการต่อรอง การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ

 

4.เปลี่ยนความแค้นให้เป็นพลัง

ตัวละคร “สันติ” ถูกจากเจ้าสัว “คณิน” ในเรื่องหักหลัง ทั้งในเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียน, การไม่ให้เป็นซีอีโอทั้งที่รับปากไว้ เหล่านี้กลายเป็นความแค้น และเป็นแรงกระตุ้นที่ให้ “สันติ” ออกมาเป็นบริษัทของตัวเอง เพื่อเอาคืนกับเรื่องที่เคยถูกทำเอาไว้ สะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่าไว้ใจใคร 100% และไม่ควรพูดไอเดียตัวเองออกไปให้คนอื่นรับรู้หมด อาจจะบอกได้ว่าการหาพาร์ทเนอร์ที่ดีเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

 

5.เกมธุรกิจ

ในสนามธุรกิจปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่อยู่มาก่อนย่อมมีความเก๋าอย่างเจ้าสัว “คณิน” ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงในธุรกิจต่าง ๆ ทำให้ย่อมได้เปรียบกว่าผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องมาเริ่มต้นทุกอย่างเอง บางทีการขาดประสบการณ์ก็นำปัญหามาสู่ตัวเองได้

 

6.ทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย

ชีวิตของผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ เรียกว่า การทำงานไม่เป็นเวลา บางทีอาจจะตลอด 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้ เพราะมีปัญหาให้เข้ามาแก้ไขตลอด รวมถึงการต้องดูภาพรวมของบริษัท ทำให้แต่ละฝ่ายพึงพอใจกับการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีเรื่องการต้องหาลูกค้า นักลงทุน ที่ถูกปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีก แต่ก็ท้อไม่ได้

 

7.ความต่างของคนเป็นผู้นำ

อีกเรื่องที่อยากพูดถึงคือซีอีโอของทั้งสองบริษัท นั่นคือ Thunder ของ “สันติ” กับ Easy ของ “เคน” ลูกเจ้าสัวคณิน ที่มีความแตกต่างกันมาก โดย “สันติ” มักจะลงมามีส่วนร่วมกับลูกน้อง คอยคิด คอยแก้ปัญหา เรียกได้ว่าถึงไหน ถึงกัน ลงมาทำเอง ส่วน “เคน” จะมาในลุคของผู้บริหาร ใส่สูท แต่งตัวดี ให้ลูกน้องคิดไอเดียมานำเสนอ เรียกว่าสั่งมากกว่าทำ

 

แน่นอนว่าอย่างแรกย่อมได้ใจลูกน้องมากกว่า เพราะได้มาคลุกคลีรู้ถึงปัญหาจริงๆ ดีกว่านั่งอยู่ในห้องทำงาน รอแค่รายงานสรุป

 

 

 

ซีรีส์ “สงคราม ส่งด่วน” ได้ถ่ายทอดเส้นทางของผู้ประกอบการจากศูนย์สู่การสร้างธุรกิจยูนิคอร์น โดยเน้นความสำคัญของวิสัยทัศน์ การสร้างพันธมิตร และการรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด ผู้ชมสามารถเรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ การเจรจา และการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังสะท้อนแรงผลักดันส่วนบุคคลที่เป็นหัวใจของผู้ประกอบการทุกคน

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ