ในโลกธุรกิจคงประหลาดใจไม่ใช่น้อย หากแบรนด์ที่เราทำอยู่ไปอวยคู่แข่งที่ขายสินค้าหรือบริการแบบเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควร แต่เรื่องนี้สามารถสร้างโอกาสอย่าง มาม่าพลิกเกมธุรกิจ ที่ออกมาอวยคู่แข่งในตลาดอย่างไวไว จนเกิดเป็นกระแสพูดถึงเกี่ยวกับกลยุทธ์ในครั้งนี้
มาม่า แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สร้างความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อเฟซบุ๊กแฟนเพจ Mamalover เปลี่ยนภาพโปร์ไฟล์เป็น “ไวไว” พร้อมติดแฮชแท็ก #แวะกินยี่ห้ออื่นบ้างนะงับ จนเกิดคำถามขึ้นมา ตลอดจนคาดการณ์ว่าจะมีอไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจหรือไม่
เรื่องนี้ถูกเฉลย อ้างอิงจากเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจที่ได้คุยกับนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ในประเด็นการควบรวมกิจการ พบว่าไม่ใช่การควบรวมกิจการ แต่เป็นการแสดงถึงความร่วมมือที่อยากจะกระตุ้นตลาด และส่งเสริมการแข่งขันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในภาวะอึดอัด กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว

หลังจากนั้น (10 มิ.ย. 68) เฟซบุ๊ก Mamalover ได้เปลี่ยนโปร์ไฟล์อีกครั้งเป็น “รุสกี” และวันนี้ (11 มิ.ย. 68) ก็ได้เปลี่ยนโปรไฟล์เป็น “บะหมี่มาเฟีย”

กรณีศึกษาเรื่องนี้สามารถโยงเข้ากลยุทธ์ Co-opetition โดยเป็นการผสมผสานคำระหว่าง Cooperation (ความร่วมมือ) กับ Competition (การแข่งขัน) เข้าด้วยกัน ซึ่งบางทีการทำรูปแบบนี้เพื่อผลประโยชน์ของตลาดโดยรวม ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาฝืดเคือง การที่แบรนด์คู่แข่งมาร่วมมือกันก็จะช่วยให้ตลาดเติบโต เกิดการพัฒนาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้-เทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม
ตัวอย่างแบรนด์ธุรกิจที่เคยเกิดขึ้น เช่น Intel (ผู้ผลิตชิป) กับ Microsoft (ผู้ผลิตซอฟต์แวร์) เป็นคู่ค้าที่สำคัญต่อกันมาก เพราะฮาร์ดแวร์ที่ดีต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่ดี และซอฟต์แวร์ที่ดีก็ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่ดี แม้ทั้งสองบริษัทจะแข่งขันกันในบางด้าน แต่ก็ร่วมมือกันเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้ากันได้ดีและพัฒนาตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวม
อย่างกรณีมาม่า การออกมาอวยคู่แข่ง เป็นการผสมผสานการแข่งขัน และความร่วมมือ เพื่อสร้างความหลากหลาย และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยกลยุทธ์นี้ทำให้แบรนด์ได้รับประโยชน์ แบ่งเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
เพิ่มความสนใจและความหลากหลาย: การที่ “มาม่า” เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็น “ไวไว” และมีการโต้ตอบกันบนโซเชียลมีเดีย สร้างความฮือฮาและเพิ่มความสนใจให้กับแบรนด์ทั้งสอง
สร้างความรู้สึกเป็นมิตร: การที่คู่แข่งหันมาอวยกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรและทำให้แบรนด์ดูน่ารักมากขึ้นในสายตาของผู้ชม
ส่งเสริมการบริโภคสินค้า: กลยุทธ์นี้ยังสามารถส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาลองสินค้าของคู่แข่งบ้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าของทั้งสองแบรนด์
สร้างความแตกต่าง: ในตลาดที่แข่งขันสูง การสร้างความแตกต่างผ่านกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนใครแบบนี้ ทำให้แบรนด์โดดเด่นและสร้างความประทับใจได้
สำหรับผลลัพธ์ที่มาม่าพลิกเกมธุรกิจตามมาอาจจะมีการร่วมมือระหว่างกันในอนาคตของทั้งสองแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ ความเป็นมิตรที่ดีระหว่างกัน รวมถึงภาพกว้างของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้กลับมามีความคึกคักอีกครั้ง
แม้ว่าในโลกธุรกิจจะมีการแข่งขันสูง การ “อวยคู่แข่ง” หรือการชื่นชมคู่แข่งในเชิงกลยุทธ์ อาจฟังดูแปลก แต่ในบางสถานการณ์ มันสามารถเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือ และดึงดูดลูกค้าได้เช่นกัน เพราะการทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้อง “แพ้-ชนะ” เสมอไป บางครั้ง การร่วมมือกับคู่แข่งในด้านที่สร้างมูลค่าร่วมกัน จะช่วยให้ “เค้กใหญ่ขึ้น” แล้วค่อยมาแข่งขันกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งจากเค้กที่ใหญ่ขึ้นนั้นก็ไม่ว่ากัน
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
Post Views: 337