วิเคราะห์ความนิยม ‘หม้อไฟ’ และพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน
อุตสาหกรรมหม้อไฟในประเทศจีนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนทุกเพศทุกวัย ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมหม้อไฟของจีนในปี 2566 อยู่ที่ 596,600 ล้านหยวน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 668,900 ล้านหยวนในปี 2568
ปริมาณการผลิตวัตถุดิบสำหรับหม้อไฟในจีน
ในปี 2567 จีนมีปริมาณการผลิตผักอยู่ที่ 829 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 และปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ 96.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 อุปทานสินค้าทางการเกษตรที่เพียงพอและเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่เสถียรภาพนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหม้อไฟของจีน
แบรนด์หม้อไฟที่มีชื่อเสียงในจีน
แบรนด์ร้านหม้อไฟที่มีชื่อเสียงในจีน เช่น Haidilao (ไห่ตี่เลา) และ Xiaolongkan (เสี่ยวหลงค่าน) ร้าน Haidilao มีสาขาในเมืองระดับ 1 และ 2 เป็นหลัก โดยมีสาขาในมณฑลกวางตุ้งมากที่สุดถึง 162 สาขา รองลงมาคือมณฑลเจ้อเจียง (111 สาขา) และมณฑลซานตง (77 สาขา) ส่วน Xiaolongkan ขยายสาขาส่วนใหญ่ไปยังเมืองระดับ 4 โดยมีสาขาในมณฑลอันฮุย 76 สาขา ปัจจุบัน รสนิยมของผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้น และมีการยอมรับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารจากภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น แบรนด์หม้อไฟต่าง ๆ จึงสร้างสรรค์อาหารรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
สไตล์หม้อไฟที่ชาวจีนนิยมรับประทาน
หม้อไฟสไตล์เสฉวนได้รับความนิยมสูงสุดในจีน โดยชาวจีนนิยมรับประทานหม้อไฟที่มีวัตถุดิบ เช่น ลูกชิ้นเนื้อ และผ้าขี้ริ้ว อุตสาหกรรมหม้อไฟมีการพัฒนาโดยผสมผสานกับวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค และมีการเพิ่มวัตถุดิบในหม้อไฟที่หลากหลายมากขึ้น
พฤติกรรมการบริโภคหม้อไฟของชาวจีน
ผู้บริโภคร้อยละ 64.2 นิยมรับประทานหม้อไฟกับเพื่อนฝูงหรือครอบครัว โดยทานร่วมกัน 3-4 คน และร้อยละ 3 นิยมรับประทานหม้อไฟเพียงคนเดียว ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปัจจุบันชาวจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หม้อไฟจึงไม่ได้เป็นเพียงเมนูอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางในการเข้าสังคมอีกด้วย ผู้บริโภคจะนั่งล้อมโต๊ะหม้อไฟเพื่อรับประทานอาหารและสื่อสารกัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผู้บริโภคหม้อไฟส่วนใหญ่พิจารณาเลือกรับประทานหม้อไฟจากราคา (ร้อยละ 62.3) และจากแบรนด์ (ร้อยละ 50)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ให้ความคิดเห็นว่า หม้อไฟเป็นอาหารยอดฮิตในปัจจุบันของกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนทุกเพศทุกวัย ในตลาดจีนมีร้านหม้อไฟรูปแบบใหม่ ๆ มาเปิดแข่งกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันชาวจีนมีกำลังทรัพย์และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารหม้อไฟ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้กลายเป็นโอกาสของธุรกิจหม้อไฟสไตล์ไทย ซึ่งชาวจีนมีความชื่นชอบรสชาติต้มยำกุ้งอยู่แล้ว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ Soft Power ของละครหรือซีรีส์ไทยในการดึงดูดผู้บริโภคหรือสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหม้อไฟสไตล์ไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหม้อไฟยังช่วยผลักดันการพัฒนาธุรกิจสินค้าน้ำจิ้มของไทยด้วย เนื่องจากหม้อไฟสไตล์ไทยและน้ำจิ้มของไทยเป็นของที่รับประทานคู่กัน ปัจจุบัน แพลตฟอร์มออนไลน์และผู้มีอิทธิพลทางสังคมออนไลน์ (KOL) มีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจในจีน ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างกระแสการรับประทานหม้อไฟสไตล์ไทย เพื่อกระตุ้นยอดขายและส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในจีนต่อไป
Post Views: 93