Future Food

รีบคว้าโอกาส! Future Food ส่อแววเติบโตพุ่งสูงกว่า 5 แสนล้าน ในปี 2570

อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คืออาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ตอบสนองวิถีชีวิตของคนในโลกยุคใหม่ มีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอาหารแห่งอนาคตเป็นสินค้าที่มีโอกาสเติบโตสูง

 

 

โดยในปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) ประเทศไทยส่งออกสินค้ากลุ่ม Functional Food มากที่สุด (สัดส่วน 90% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท) รองลงมาคือ Alternative Protein (สัดส่วน 4.5% เติบโต 9% มูลค่ากว่า 6.5 พันล้านบาท) Medical & Personalized (สัดส่วน 4% เติบโต 2% มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท) และ Organic food และ Whole foods (สัดส่วน 1% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท) โดยในปี 2570 คาดการณ์เป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยจะมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท สำหรับอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ประกอบด้วยอาหาร 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. อาหารฟังก์ชัน (Functional Food)

ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสามารถทำหน้าที่อื่นๆ ให้กับร่างกายนอกเหนือจากความอิ่มและความอร่อย ยังให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบและสภาพการทำงานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ บำบัดหรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

• กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหารหรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยเพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวัน โดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจากโสม เห็ดต่างๆ เป็นต้น และ

• กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ

2. อาหารใหม่ (Novel Food)

การผลิตรูปแบบใหม่ที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ มีการปรับแต่งกระบวนการผลิตแบบใหม่ (โครงสร้างหรือรูปแบบอาหาร) การใช้นาโนเทคโนโลยี โดยวัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี เช่น โปรตีนจากพืช เนื้อจากพืช นมจากพืช (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ Novel food)

3. อาหารทางการแพทย์ (Medical Food)

ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ทดแทนยาหรืออาหารเสริมภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรครูปแบบทาน หรือดื่มแทนอาหารหลักบางมื้อ หรือให้ทางสายยาง เช่น เจลลี่ โดยเป็นสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เหมาะสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ทารก หรือผู้ที่มีระบบเผาผลาญผิดปกติ

4. อาหารอินทรีย์ (Organic Food)

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ผลิตหรือแปรรูปโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่สังเคราะห์ทางเคมี ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยที่มาจากกากของระบบบำบัดน้ำเสีย ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบและส่วนผสม

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง