อุตสาหกรรมยา

ปัจจัยรุมเร้าทำคนไทยป่วยเพิ่ม! ดันอุตสาหกรรมยาขยายตัว 6-7% ต่อปี

“ยา” ถือเป็นปัจจัย 4 ที่ต้องมีติดไว้ในที่พักอาศัย เพราะเป็นตัวช่วยบรรเทาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อม สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปผู้คนสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นจึงดันอุตสาหกรรมยานี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

รายงานเรื่องแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2578-2570: อุตสาหกรรมยา ของศูนย์วิจัยกรุงศรี เผยว่าอุตสาหกรรม ยามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าปี 2568-2570 มูลค่าจำหน่ายยาจะขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี จากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, การเกิดโรคติดต่อใหม่ ๆ, การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ

 

 

วิจัยกรุงศรีมองการเติบโต ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.ผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน

ผู้ผลิตยาสามารถจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาล ไม่เพียงแค่นั้นร้านขายยายังเข้ามามีบทบาทในการกระจายยาตามมาตรการภาครัฐ นำมาสู่รายได้ที่เติบโต นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นจึงเป็นแรงส่งเสริมในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องระวังคือการแข่งขันที่รุนแรงตามมาจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาลงทุน โดยมีจุดเด่นในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ และเงินทุนที่มีมากกว่า อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบยานำเข้าที่สูงขึ้น กระบวนการผลิตที่ต้องลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อผลประกอบการไทย

2.ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ (ร้านค้าปลีก/ร้านค้าส่ง)

ธุรกิจร้านค้าปลีก/ร้านขายยาทั่วไป (Stand-alone): (1) การขยายสาขาของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ร้านฟาสซิโน, ร้าน Save drug (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) และร้าน Pure (เครือบิ๊กซี) ซึ่งมีแผนเปิดร้านขายยาสิริฟาร์มาเพิ่มขึ้น (2) การขยายพื้นที่จำหน่ายยาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ดิสเคาน์สโตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อโดยเฉพาะ 7-Eleven (3) คู่แข่งจากร้านขายยาออนไลน์ และ (4) ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น จากการปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐาน

ร้านค้าส่งผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์: หันมาทำตลาดร้านค้าปลีกมากขึ้น และเพิ่มช่องทางการขายและโฆษณาสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น จึงค่อนข้างได้เปรียบด้านต้นทุนการจัดซื้อยาเมื่อเทียบกับธุรกิจร้านค้าปลีก/ร้านขายยาทั่วไป

ในช่วงเวลาปี 2567 อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับยามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่กระเตื้องขึ้น เช่นเดียวกับความต้องการบริโภคยาที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือผู้ป่วยไทย และต่างชาติ (กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ทยอยกลับมารักษาในสถานพยาบาลของไทย อ้างอิงปีงบประมาณ 2567 มีผู้ป่วยใช้บริการสาธารณสุขใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศจำนวน 7.9 ล้านคน จากเฉลี่ย 7.6 ล้านคนปีงบประมาณ 2565-2566

ตลอดจนการเข้าถึงยาที่สะดวกขึ้น ภายใต้ระบบหลักประกันถ้วนหน้า และการพัฒนาแพลตฟอร์มร้านขายยาจากกลุ่มสตาร์ทอัพ Health Tech ที่ช่วยเชื่อมการสื่อสารระหว่างแพทย์ เภสัชกร และร้านขายยากับผู้ป่วยได้สะดวกขึ้น หรือแพลตฟอร์มจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน 24 ชั่วโมง ผ่านระบบ “ตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ”

ทั้งนี้ ความท้าทายของอุตสาหกรรมที่ยังเป็นการบ้านสำคัญ คือผู้ผลิตยาไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตยาที่ซับซ้อน หรือที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงการที่ปรับปรุงโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก และการลงทุนในนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตยาเพื่อบริหารให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่มา: krungsri

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ